จากคราวก่อน บทความของเราได้พูดถึงนิยามของคำว่า “วินเทจ ” และที่มาความนิยมของเสื้อทัวร์วินเทจกันไปแล้ว คราวนี้เราจะมาพูดถึงเหตุผลว่าทำไมเสื้อเหล่านี้จึงราคาแพง ปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อราคา ลายไหนฮิต รวมถึงคำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น และวิธีสังเกตของวินเทจแท้กันต่อครับ
เหตุผลที่ราคาแพง
เดิมทีเสื้อทัวร์วงต่างๆ ในยุค 70-80s นั้นขายกันในราคาที่จับต้องได้ เหตุที่เสื้อยืดวินเทจเหล่านี้กลายเป็นของสะสมราคาแพงมีหลายอย่าง หลักๆ คือ เป็นของเก่า และเป็นของหายาก เนื่องจากมักจะผลิตมาในจำนวนจำกัด ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน บางลายผลิตโดยค่ายเพลงอย่างเป็นทางการ แต่บางลายเป็นเสื้อที่แฟนคลับทำขึ้นมาเองโดยไม่ได้ขออนุญาตจากศิลปินหรือ ค่ายเพลง ที่เรียกกันว่า “เสื้อ bootleg” ซึ่งกว่าจะเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันก็มีแค่ไม่กี่ตัว แต่ทั้งเสื้อสองแบบก็เป็นที่ต้องการของตลาดพอๆ กัน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา
โดยทั่วไป หากเสื้อวินเทจตัวนั้นไม่มีความพิเศษอะไรมาก มักจะซื้อขายกันที่ราคาตั้งแต่หลักร้อยปลายๆ ถึงหลักพันต้นๆ แต่หากมีความพิเศษมากหน่อยก็อาจขายได้ตั้งแต่ราคาหลักพันกลางๆ ไปจนถึงหลักหมื่น หรืออาจถึงแสนในบางครั้ง ที่จริงแล้วราคาขึ้นอยู่กับความพอใจและรสนิยมของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก รวมทั้งราคาที่ประมูลกันใน eBay ล่าสุด ไม่มีราคากลางที่แน่นอนให้เทียบ โดยมีตัวแปรมากมาย ดังต่อไปนี้
• ระดับความหายาก แน่นอนว่ายิ่งลายหายากในตลาด ราคายิ่งแพง สาเหตุอาจเป็นได้ทั้งความเก่าแก่ของเสื้อ จำนวนผลิตที่น้อยมาก เป็นลายที่ไม่ได้รับความนิยมในตอนนั้น หรือเป็นของที่นักสะสมอยากเก็บไว้เอง เป็นต้น
• อายุ ยิ่งปีเก่ายิ่งราคาแพง ซึ่งเสื้อบางลายจะมีการสกรีนตัวเลขปีที่ผลิตบอกเอาไว้
• สภาพ ยิ่งภาพสมบูรณ์ราคายิ่งแพง แต่ตำหนิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสีเสื้อหมอง เนื้อผ้าเริ่มเปื่อยยุ่ย มีคราบ ลายสกรีนแตก มีรู ฉีกขาด ตะเข็บหลุด มีร่องรอยการซ่อมแซม ป้ายที่คอซีด นั้นแม้ว่ามีผลต่อราคาแต่ก็ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเสื้อวินเทจ และสำหรับนักสะสมบางคน เสื้อยิ่งเก่ายิ่งชอบ จึงไม่แปลกที่เสื้อในสภาพผ้าขี้ริ้วบางตัวก็ยังขายได้ราคาดี
• กระแส ในแต่ละช่วงนั้น เสื้อบางลาย หรือทำด้วยเทคนิคบางอย่างจะมีราคาแพงเป็นพิเศษตามความนิยมในตลาด เช่น ช่วงหนึ่งเสื้อที่ใช้เทคนิค acid wash หรือที่บ้านเราเรียกว่า “ผ้ากัด ” โดยใช้น้ำยามากัดเสื้อสีดำให้มีสีขาวเป็นลายต่างๆ นั้นได้รับความนิยม ราคาเสื้อชนิดนี้ก็จะสูงตาม พอหมดกระแส คนเริ่มเบื่อ ราคาในตลาดก็จะปรับให้ถูกลง หรืออาจเป็นลายของวงที่เพิ่งประกาศ reunion และออกทัวร์ครั้งใหม่ ทำให้เป็นที่ต้องการมากในช่วงเวลาหนึ่ง
• ชื่อเสียงของศิลปิน เสื้อลายศิลปินชื่อดังมักจะมีราคาแพง บางตัวอาจมีความพิเศษ อาจเป็นลายที่มีสมาชิกในวงบางคน(หรือทุกคน)เสียชีวิตไปแล้วก็อาจแพงขึ้นไปอีก เช่น เสื้อวง Ramones ที่เป็นลายสมาชิกดั้งเดิมทั้ง 4 คนของวง บางวงที่ไม่ค่อยดังแต่มีประวัติน่าสนใจบางอย่างหรือมีแฟนเพลงจำนวนหนึ่งตามหาก็อาจขายได้ราคาดีเช่นกัน ทั้งนี้ความนิยมของแฟนเพลงในแต่ละพื้นที่ทั่วโลกก็ต่างกัน จึงไม่แปลกที่เสื้อบางลายจะขายได้ราคาแพงในบางพื้นที่ แต่อาจขายไม่ได้เลยในบางพื้นที่

• ชื่อเสียงของคนวาด เสื้อลายที่มีนักวาดชื่อดังมาออกแบบให้ เช่น เสื้อวง Metallica ที่วาดโดย Pushead หรือ เสื้อวง Iron Maiden ที่วาดโดย Derek Riggs ก็ยิ่งทำให้ราคาแพงขึ้น
• สีเสื้อ เสื้อสีขาวมักจะราคาสูงกว่าเสื้อสีอื่นๆ เพราะเป็นสีทำออกมาวางขายน้อยที่สุด
• เนื้อผ้า เสื้อผ้าในยุค 70–80s มักจะทำด้วยผ้าที่ผสมระหว่างใยสังเคราะห์กับใยธรรมชาติ แบบที่นิยมกันมากที่สุดคือ โพลีเอสเตอร์ (polyester) 50% และฝ้าย (cotton) 50% หรือ poly-cotton ที่บ้านเราเรียกกันว่า “ผ้าบาง 50” หรือ “ผ้ามุ้ง ” เพราะมีความโปร่ง บาง เหมือนมุ้ง ส่วนผสมดังกล่าวทำให้เสื้อที่ทำจากผ้า poly-cotton ยับยาก ไม่หดง่ายเท่า cotton 100% หลายเสียงอ้างว่าแม้ทำจากผ้า cotton เหมือนกัน แต่เสื้อวินเทจจากยุคนั้นใช้ cotton เกรดดีกว่า จึงมีความนุ่มสบายกว่าเสื้อในยุคปัจจุบัน เสื้อวินเทจที่ทำจาก poly-cotton จึงมีราคาแพงกว่า cotton 100% บางตัวอาจเป็น “ผ้าสามเนื้อ ” เพราะมีส่วนผสมของเรยอง (rayon) 15-30% ซึ่งจะทำให้ผ้าออกเป็นสีเทา ซึ่งในเมืองไทยและมาเลเซียจะนิยมผ้าที่มี rayon ผสม และซื้อขายกันในราคาแพงกว่า poly-cotton ทั่วไปมาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่ได้นิยม rayon เท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม เสื้อวินเทจที่เป็น cotton 100% ก็มีเช่นกัน
• ผลิตโดยค่ายเพลง เสื้อที่มีคำว่า “official” ที่หมายถึงเป็นการผลิตอย่างเป็นทางการโดยค่ายเพลง หรือเครื่องหมาย © ซึ่งแสดงถึงลิขสิทธิ์ถูกต้อง มักจะมีราคาแพงกว่าเสื้อ bootleg ที่แฟนคลับทำเอง ทั้งนี้ เสื้อลิขสิทธิ์ยังมีคุณภาพที่ดีและมักได้รับการออกแบบที่ดูดีกว่าเสื้อ bootleg

• ประวัติ หากเสื้อตัวนั้นมีประวัติ เช่น เป็นเสื้อที่ศิลปินหรือดาราดังเคยสวมใส่จะยิ่งทำให้ราคาแพงลิบลิ่ว แต่การพิสูจน์ว่าจริงหรือเปล่านั้นเป็นเรื่องยากมาก

ตัวอย่างลายยอดนิยม

Rolling Stones “tongue and lip” (Sticky Fingers LP)

Ramones (presidential seal)

Iron Maiden (Eddie)

Run-D.M.C. (logo)
ตัวอย่างลายหายาก

AC/DC Heat Seeker

Pink Floyd Animals Tour 1977

The Rolling Stones Oakland Tour 1978

Led Zeppelin Backstage Pass T-shirt Knebworth 1979

Run D.M.C.- My Adidas T-shirt 1980s
คำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น
หากคุณสนใจอยากเริ่มสะสมเสื้อทัวร์วินเทจดูบ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร อันดับแรกให้ลองถามตัวเองดูก่อนว่ารู้จักและชอบวงไหนบ้าง จากนั้นจึงศึกษาหาข้อมูลวงเหล่านั้นให้ดี แล้วก็เริ่มหาซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ก่อน โดยอาจพาผู้รู้ไปเป็นเพื่อนช่วยดู และที่สำคัญควรซื้อตามงบที่มี อย่าใช้จ่ายเกินกำลัง เมื่อมีประสบการณ์และความรู้มากพอแล้วจึงเริ่มหาซื้อตัวอื่นๆ ที่อยากสะสมจากในอินเตอร์เน็ตซึ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น ทางที่ดีเราแนะนำให้ซื้อจากร้านที่ได้เห็นของจริง เพื่อให้ได้เห็นของ ได้สัมผัส ได้ลองจนมั่นใจก่อนจ่ายเงิน ซึ่งเรามีวิธีสังเกตคุณสมบัติของเสื้อวินเทจอย่างคร่าวๆ ดังนี้

วิธีสังเกตความวินเทจของแท้
• ตำหนิ โดยทั่วไป ถ้าเป็นเสื้อวินเทจจริง ไม่ได้มาจาก dead stock หรือเก็บไว้อย่างดีเยี่ยม มักจะดูเก่าจากการใช้งานหรือมีตำหนิเท่าๆ กันทุกส่วน หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งใหม่จนผิดสังเกตให้สันนิษฐานว่าไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม การทำให้เสื้อดูเก่าและมีตำหนิเพื่อหลอกคนซื้อนั้นไม่ยาก
• ขนาด เสื้อยืดวินเทจโดยเฉพาะยุค 70s แม้ป้ายจะบอกว่าไซส์ M เหมือนกัน แต่มักจะมีขนาดเล็กกว่าเสื้อไซส์ M ในปัจจุบันประมาณหนึ่งไซส์ ถ้าเป็นไปได้ลองวัดขนาดหรือใส่ดูก่อน
• ลาย ควรตรวจสอบว่าลายเสื้อแต่ละลายนั้นเป็นของต้นฉบับหรือไม่ สังเกตความถูกต้องของดีไซน์หรือสีว่าเพี้ยนแค่ไหน ทั้งนี้เทคนิคการพิมพ์ลายเสื้อเหล่านี้ในยุคนั้นจะเป็นการสกรีน (screen printing) และการถ่ายโอนความร้อน (iron-on transfer/heat transfer) เป็นหลัก ซึ่งหากเสื้อตัวไหนที่ใช้เทคนิคพิมพ์ดิจิทัล (digital printing) อย่างในปัจจุบัน จะสังเกตได้ง่ายว่าสีที่พิมพ์ไปจะฝังไปในเนื้อผ้า ลูบแล้วไม่รู้สึกว่านูนขึ้นและฝืดเหมือนรอยสกรีน และสีจะสดกว่าสีจากการสกรีนมาก
• ป้าย เสื้อยืดที่นิยมใช้ผลิตกันในยุคนั้นมาจากหลากหลายแบรนด์ เช่น Hanes, Niceman, Stedman, Giant, Brockum เป็นต้น ซึ่งค่ายเพลงมักจะไปซื้อเสื้อเปล่าของแบรนด์เหล่านี้มาสกรีน ให้สังเกตที่ป้ายคอ (tag) ว่ามีชื่อของแบรนด์ดังกล่าวหรือไม่ มีคำว่า MADE IN USA หรือเปล่า มีร่องรอยการเลาะ หรือเย็บป้ายใหม่เพื่อย้อมแมวไหม เป็นต้น ทั้งนี้ ในบางกรณีเสื้อบางตัวที่เป็นของวินเทจแท้ๆ แต่ไม่มีป้ายคอแต่แรกก็มีเช่นกัน


• เนื้อผ้า ด้วยความที่ส่วนใหญ่เป็นผ้าผสม poly-cotton หรือเป็นผ้าสามเนื้อที่มี rayon ปนอยู่ด้วย จึงมีความนุ่มและบางกว่าผ้า cotton 100% สำหรับมือใหม่อาจแยกแยะความแตกต่างของเนื้อผ้าได้ยาก สามารถสังเกตส่วนผสมได้ที่ข้อความตรงป้ายคอ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะบอกตัวเลขเรียงเป็น polyester/cotton หรือ polyester/cotton/rayon ตามลำดับ
• การตัดเย็บ เสื้อยุคนั้นส่วนใหญ่จะเย็บแบบตะเข็บเดี่ยว ชายสอย เนื่องจากยังตัดเย็บด้วยการใช้จักรและมืออยู่ หรือเป็นข้อจำกัดของเครื่องจักรแบบเก่า ยังไม่ได้ตัดเย็บด้วยเทคโนโลยีใหม่เช่นในยุค 90s เป็นต้นมาซึ่งสามารถเดินตะเข็บคู่หรือแบบอื่นที่ซับซ้อนได้ง่ายและรวดเร็วกว่ามาก ทั้งนี้ เสื้อวินเทจส่วนใหญ่จะไม่มีตะเข็บด้านข้างเนื่องจากใช้วิธีทอเสื้อขึ้นมาเป็นตัวตามไซส์แล้วเย็บแขนติดเข้าไปทีหลัง


• กลิ่น เสื้อวินเทจก็เหมือนกับเสื้อผ้ามือสองทั่วไปตรงที่มีกลิ่นของความเก่าอยู่ กลิ่นที่ว่าจะใกล้เคียงกับหนังสือเก่า ลองดมดู
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบว่าเสื้อแต่ละตัวเป็นของวินเทจแท้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องยากมาก แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็ยังไม่สามารถจับผิดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เข้าทำนอง “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ” ควรซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้และตรวจสอบอย่างละเอียดทุกครั้ง
สุดท้ายนี้ ทีมงาน SneakaVilla หวังว่าบทความของเราจะเป็นประโยชน์แก่คุณ ขอให้มีความสุขกับการสะสม และขอขอบคุณข้อมูลและตัวอย่างเสื้อบางส่วนจากคุณ ณัฐชา เพ็ชรเจริญ ครับ