หลายคนอาจรู้จัก “Banksy” ในนามของศิลปินผู้สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกจากผลงาน graffiti อันมีเอกลักษณ์และทรงพลัง นำเสนอเนื้อหาที่เสียดสีสังคมอย่างไม่มีการไว้หน้าใครทั้งสิ้น ในขณะที่ยังแฝงด้วยอารมณ์ขัน จนมีทั้งคนรักและคนชังพอๆ กัน แต่แทบไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นใคร เพราะ Banksy ไม่ยอมเปิดเผยตัวตนมาตั้งแต่เริ่มสร้างผลงานเมื่อ 25 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ชีวิตและผลงานของเขาจึงเต็มไปด้วยความน่าค้นหาจนเราอดไม่ได้ที่จะหยิบมานำเสนอ และไม่ว่าคุณจะเคยได้ยินชื่อ Banksy มาก่อนหรือไม่ก็ตาม เรื่องราวต่อไปนี้จะทำให้คุณรู้จักตัวตนและผลงานของเขามากขึ้นราวกับนั่งคุยกับเจ้าตัวเลยทีเดียว
The Identity
Banksy เลือกที่จะปกปิดหน้าตาและตัวตนของเขาเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้นเส้นทางนี้ด้วยหลายเหตุผล อย่างแรกเป็นเพราะว่าการพ่น graffiti ในที่สาธารณะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายของอังกฤษ ซึ่งเขาอาจต้องติดคุกถึง 10 ปีได้ อย่างที่สองคือเขาคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนหน้าตาดีอะไร อยากให้คนสนใจที่ผลงานมากกว่า แถมยังไม่ชอบคุยกับสื่อมวลชนหรือคนหมู่มากสักเท่าไหร่ นอกจากนี้การที่เขาทำตัวลึกลับก็ทำให้มีคนมาสนใจผลงานมากขึ้นด้วย
แม้จะเก็บทุกอย่างไว้เป็นความลับสุดยอด โดยที่พ่อแม่ของเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาคือ Banksy มีเพียงเพื่อนและคนสนิทไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้เรื่องนี้ แต่นักข่าวหลายคนก็พยายามสืบเรื่องนี้ เท่าที่เรารวมรวมข้อมูลที่น่าเชื่อถือไว้จากหลายๆ ที่ เขาน่าจะมีชื่อจริงว่า Robin Gunningham ใส่แว่น เจาะหู รูปร่างใหญ่ เกิดที่ Bristol ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1973-1975 ในครอบครัวชนชั้นกลาง และมีพี่สาวหนึ่งคน เขาชอบวาดรูป ฉายแววศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก เคยเข้าเรียนที่ Bristol Cathedral School ก่อนที่จะลาออกตอนอายุ 16 ปี และใช้ชีวิตด้วยตัวเองตั้งแต่นั้นมา และแต่งงานกับ lobbyist สาวชื่อ Joy Millward หลังจากนั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ครอบครัวของ Robin ไม่ยอมรับถึงการมีอยู่ของชายคนนี้ ในปัจจุบัน เราจึงไม่สามารถฟันธงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า Banksy คือใครกันแน่
ภาพถ่ายของชายที่น่าจะเป็น Robin Gunningham ในจาไมกา ปี 2004
The Inspiration
ปี ค.ศ. 1990 Banksy เริ่มต้นสร้างผลงานจากการพ่น graffiti บนกำแพงตึกในบ้านเกิดที่เมือง Bristol และไม่ได้ออกไปพ่นคนเดียว แต่ไปพร้อมกับเพื่อนที่ชื่อ Kato และ Tes ในนามของกลุ่ม “Bristol’s DryBreadz Crew” (DBZ) ซึ่งถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนกระแสดนตรีและศิลปะ underground ใน Bristol ยุคนั้นร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ อย่าง Nick Walker, Inkie, และ 3D ซึ่ง 3D นั้นได้รับการยกย่องในฐานะศิลปินผู้บุกเบิก graffiti ใน Bristol และเป็นอิทธิพลสำคัญที่ทำให้ Banksy อยากพ่น graffiti บ้าง
The Style
ใน ระยะแรก Banksy ยังคงใช้เทคนิคการพ่นแบบ free hand เหมือนคนอื่นๆ และใช้ stencil ผสมบ้างในบางครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังพ่นรถไฟกับเพื่อนๆอยู่ ตำรวจก็เข้ามาไล่จับ เพื่อนๆ ของเขาหนีไปที่รถสำเร็จ แต่ด้วยความที่ Banksy เป็นคนพ่นช้ากว่าคนอื่นๆ เขาจึงต้องวิ่งเข้าไปนอนหลบใต้รถขนขยะและเปื้อนน้ำมันรถอยู่เป็นชั่วโมงจน กระทั่งตำรวจเลิกตามหา ระหว่างนั้นเองที่เขาสังเกตเห็นป้าย serial number ที่พ่นด้วยเทคนิค stencil อยู่ตรงใต้ท้องรถ และคิดว่าสิ่งนี้จะช่วยให้เขาสามารถพ่นภาพในสไตล์ที่เป็นตัวเองมากขึ้นโดย ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีได้ จึงลองใช้ stencil ในการพ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นสไตล์เฉพาะตัวขึ้นมา และตัวตนยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนคนอื่นเลียนแบบได้ยาก
สไตล์ผลงานของ Banksy นั้นนอกจากเน้นการใช้ stencil และเน้นการลงสีขาว-ดำแล้ว ยังมีความโดดเด่นอีกหลายอย่าง เช่น เนื้อหาที่เน้นการเสียดสีเรื่องราวในสังคม การเมือง ต่อต้านทุนนิยม บริโภคนิยม และสงคราม เรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพ ภาพที่ใช้บ่อยๆ จะเป็นภาพของ หนู ลิง เด็ก ผู้หญิง ตำรวจ และทหาร โดยที่นำเสนอด้วยอารมณ์ขันแบบหยิกแกมหยอก ประชดประชัน ไปจนถึงตลกร้ายอยู่เสมอ จนทำให้เกิดเป็นสเน่ห์ในแบบเฉพาะตัว
The Rise to Fame
ปี 1999 เขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ London และในปี 2001 ก็เริ่มจัดนิทรรศการเล็กๆ ครั้งแรกขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับเพื่อนๆ ในอุโมงค์บนถนน Rivington Street พร้อมกับจัดปาร์ตี้เพลง hip hop ไปด้วย ซึ่งมีคนไปร่วมงานประมาณ 500 คน โดยที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ซึ่งช่วงนี้เองที่เขาใช้เทคนิค stencil อย่างเต็มตัว ตามด้วยนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของตัวเองในปีต่อมาชื่อ “Existencilism” ที่ 331⁄3 Gallery ใน LA และ “Turf War” ที่ London ในปี 2003 โดยนำผลงานในหลายรูปแบบมาจัดแสดง เช่น ภาพวาดล้อเลียน Queen Elizabeth กับ Che Guevara, ภาพวาดจากอัลบั้ม Think Tank ที่ทำให้วง Blur หรือ การนำหมู แกะ และวัวตัวเป็นๆ มาเพนท์เป็นลวดลายต่างๆ ตามคอนเซ็ปต์
ในปี 2004 นอกจาก Banksy จะสร้างผลงาน graffiti เด่นๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีผลงานอันโด่งดังอีกอย่างคือการพิมพ์แบ็งค์ 10 ปอนด์ปลอมโดยใช้รูปเจ้าหญิงไดอาน่าแทนรูป Queen Elizabeth เพื่อเป็นการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิง และแก้คำว่า “Bank of England” เป็น “Banksy of England” ออกมาแจก ซึ่งหลายคนที่ได้แบ็งค์เหล่านี้ไปก็เอาไปใช้จ่ายจริงๆ จน Banksy ต้องรีบหยุดโปรเจ็คนี้ทั้งที่ยังมีแบ็งค์เหลือในสต็อคอีกมาก
ต่อมาใน ปี 2005 เขาก็ท้าความตายด้วยการไปพ่นภาพชุดหนึ่งบนกำแพงในเขต West Bank ที่กั้นระหว่างดินแดนของอิสราเอลกับปาเลสไตน์เอาไว้ทั้งที่บริเวณนี้มี guard ถือปืน sniper ของทั้งสองฝ่ายคอยจับตาดูอยู่ตลอดเวลา ซึ่งภาพเหล่านี้สามารถตีความถึงการเรียกร้องเสรีภาพได้อย่างชัดเจน
ปี 2006 Banksy คิดโปรเจ็คสุดแสบขึ้นมาด้วยการเข้าไปขโมยซีดีอัลบั้ม “Paris” ของ Paris Hilton ในร้านขายซีดี จากนั้นเอามาแต่งรูปปก แก้ไขชื่อเพลง รวมถึง artwork ข้างในใหม่ แถมยังร่วมงานกับ Danger Mouse ในการ remix เพลงขึ้นมาเพลงหนึ่งชื่อ “That’s Hot” ความยาว 40 นาทีแทนเพลงในอัลบั้ม แล้วเอาไปเปลี่ยนกับซีดีของจริงในร้าน HMV กว่า 500 แผ่น
ตามมาด้วย นิทรรศการครั้งที่สองใน LA ชื่อ “Barely Legal” โดยครั้งนี้นอกจากจะมีรูปปั้นและภาพวาดบนแคนวาสมากมายที่รวมเอาภาพเดียวกับ ที่เขานำไปแปะไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มาจัดแสดงแล้ว ยังมีการเพนท์บนตัวช้างตัวเป็นๆ ด้วย
หลังจาก นั้นในปี 2009 เขาก็กลับไปจัดนิทรรศการเดี่ยวชื่อ “Banksy vs Bristol Museum” ในบ้านเกิด ซึ่งถือว่าเป็นนิทรรศการเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เขาเคยจัดมาด้วยการขนผล งานกว่า 100 ชิ้น(78 ชิ้นเป็นผลงานใหม่)มาจัดแสดง นอกจากจะมีงานเพนท์ล้อเลียนแล้ว เขายังโชว์ความซนและความคิดสร้างสรรค์ด้วยการไปดัดแปลงหุ่นที่จัดแสดงตามปกติอยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย
เมื่อ London ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในปี 2010 Banksy ก็มีผลงานชุดหนึ่งออกมาเสียดสีสังคมกันอีกครั้ง ผลงาน graffiti ชิ้นสำคัญและถูกพูดถึงกันมากที่สุดในชุดนี้ของ Banksy ก็คือ “Child Labor” ซึ่งต่อมาไม่กี่วันก็ถูกเลาะออกจากกำแพงแล้วนำไปประมูลขายแบบออนไลน์ใน Miami ในราคาไม่ต่ำกว่า 500,000 เหรียญฯ(ประมาณ 17 ล้านกว่าบาท) ก่อนจะถูกระงับ และมีการนำไปแอบขายอีกครั้งโดยบริษัทเอกชนใน London ในราคา 1.1 ล้านเหรียญฯ (ประมาณ 35 ล้านบาท) แม้ว่าทางการของอังกฤษจะต้องการภาพกลับคืนไปติดตั้งไว้ที่เดิมก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะภาพของ Banksy ถือว่าผิดกฎหมายตั้งแต่แรกแล้ว
ในปีเดียวกันนี้ เขาได้รับการยกย่องจาก TIME Magazine ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก และภาพยนตร์ตีแผ่วงการ street art เรื่อง “Exit Through The Gift Shop” ที่เขากำกับเองก็เข้าฉายอย่างเป็นทางการใน Sundance Film Festival และกวาดรายได้มาถึง 5 ล้านเหรียญฯ ทั้งยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาสารคดียอดเยี่ยมในปีนั้นอีกด้วย แม้ว่าจะอดคว้ารางวัลนี้ไป แต่เขาก็ได้รับรางวัล Best First Feature 2010 จาก Toronto Film Critics Association Awards, รางวัล Independent Spirit Award for Best Documentary Feature จาก Independent Spirit Award, และ Best Documentary Film 2010 จาก Washington D.C. Area Film Critics Association มาปลอบใจ
พอถึงปี 2013 Banksy ก็มีโปรเจ็คที่ทำให้ชาว New York ได้ตื่นเต้นกัน เมื่อเขาประกาศว่าจะไปพักอยู่ใน New York ช่วงเดือนตุลาคมและทยอยสร้างผลงานติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งเดือน ทำให้หลายคนตั้งตารอคอยว่าผลงานชิ้นต่อไปจะเป็นอะไร และโผล่ขึ้นที่ย่านไหน ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นก็เต็มไปด้วยไอเดียและใช้เทคนิคแตกต่างกัน แบบนี้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ส.ค.-28 ก.ย. ปีนี้ เขาก็เปิดสวนสนุกชั่วคราว “Dismaland” ขึ้นบนพื้นที่ร้างของย่าน Weston-Super-Mare ในอังกฤษ จากการร่วมมือกับศิลปินกว่า 60 คน ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ทำมาเสียดสีสังคมและ Disneyland โดยเฉพาะ สภาพโดยรวมของงานดูเก่าโทรม หม่นหมอง เจ้าหน้าที่ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส เครื่องเล่นต่างๆ ก็ดูประหลาดและไม่น่าสนุกเท่าไหร่ แต่เพราะว่าเป็นงานคอนเซ็ปต์ที่นำเรื่องราวต่างๆในสังคมมาสะท้อนและนำเสนอต่อผู้เข้าร่วมงานได้อย่างเจ็บแสบและน่าชื่นชม Dismaland จึงเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็คของ Banksy ในฐานะโปรดิวเซอร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แถมยังไม่ถูกฟ้องร้องจาก Disney เพราะทำการบ้านมาแล้วว่ากฎหมายคุ้มครองการล้อเลียนเอาไว้
The Graffiti Wars
แม้ Banksy จะโด่งดังไปทั่วโลกด้วยเทคนิค stencil และสไตล์ภาพที่มีเอกลักษณ์แบบที่มองแวบเดียวก็รู้ว่าเป็นฝีมือใคร แต่จริงๆ แล้วคนที่คิดค้นเทคนิคขึ้นมาเป็นคนแรกและได้รับฉายาว่าเป็น “Godfather of Stencil Graffiti” คือ Blek Le Rat ศิลปินชาวฝรั่งเศส ที่นำแรงบันดาลใจจากกระแส graffiti ที่ถือกำเนิดในยุค 1970s ที่ New York มาสร้างสรรค์งานในสไตล์ตัวเองที่ปารีสในปี 1981 ซึ่งทั้งสไตล์และคอนเซ็ปต์ของทั้งคู่มีความคล้ายคลึงกัน เพราะต่างก็ใช้ stencil พ่นเป็นภาพสีขาว-ดำเป็นหลัก นำเสนอประเด็นเรื่องสังคมและการเมือง และใช้สัญลักษณ์หลักคือ “หนู” ในผลงานของตัวเองหลายชิ้น จนแม้แต่ Blek เองก็รู้สึกไม่ชอบใจนักเพราะคิดว่า Banksy ลอกสไตล์งานตัวเองมา ส่งผลให้มีแฟนๆ ของ Blek หลายคนไม่พอใจ Banksy เช่นกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ Banksy บอกว่าเขามารู้จักผลงานของ Blek ทีหลังผ่านบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ แต่ก็ยอมรับว่าคอนเซ็ปต์งานที่เขาเคยทำไปหลายๆ ชิ้นนั้นเหมือนกับที่ Blek เคยทำไว้ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม การนำเสนอของ Banksy นั้นมักจะมีอารมณ์ขันสอดแทรกและวิจารณ์สังคมอย่างเจ็บแสบอยู่เสมอ แตกต่างจาก Blek อย่างชัดเจน
แต่ความขัดแย้งไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ตัวเขายังเป็นชนวนสงครามขนาดย่อมๆ ขึ้นมาในวงการ graffiti ในปี 2009 ด้วยการที่จู่ๆ ก็ไป bomb ภาพของ graffiti writer รุ่นใหญ่ ผู้บุกเบิก graffiti ใน London อย่าง King Robbo ที่พ่นไว้ใต้สะพานข้ามคลอง Regent’s Canal ตั้งแต่ปี 1985 ซึ่งถือเป็นภาพเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ของเขา และไม่เคยมีใครมาแตะต้องเป็นเวลา 25 ปี เหตุการณ์นี้ทำให้ King Robbo โกรธมาก และนำไปสู่การผลัดกัน bomb งานของทั้งคู่ รวมถึงฝีมือของคนที่อาจจะเป็นแฟนๆ ของทั้งสองด้วย สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2011 ที่ King Robbo ประสบอุบัติเหตุล้มศีรษะกระแทกจนโคม่า และเสียชีวิตลงในปี 2014 ซึ่ง Banksy ได้กลับไปพ่นภาพเทียนที่ทำจากกระป๋องสีไว้ที่จุดเดิมเพื่อไว้อาลัย และสร้างผลงานที่คล้ายกันใน Dismaland ของเขาด้วย สุดท้าย แฟนๆ ของ King Robbo ได้วาดภาพดั้งเดิมทับเอาไว้เป็นอนุสรณ์จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ด้วยความโด่งดังของเขา ทำให้ผลงาน graffiti ใหม่ๆ หลายชิ้นได้รับการปกป้องจากทั้งประชาชนและทางการของอังกฤษ ในขณะที่ผลงานของคนอื่นยังถูกเจ้าหน้าที่ลบทิ้งเช่นเคย เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ท่ามกลางศิลปินด้วยกันว่า “สองมาตรฐาน” และทำให้ศิลปินหลายคนพาลไม่พอใจ Banksy อีก
ไม่ว่าจะด้วยเหตุการณ์ที่ แล้วมา หรือว่าจะแค่หมั่นไส้เฉยๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม ผลงาน graffiti ของ Banksy จำนวนมากนอกจากที่ถูกขโมยไปขายแล้ว ยังถูก bomb ถูกทาทับ หรือทำลายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้โอกาสได้ชมผลงานของเขานั้นน้อยลงไปอีก
The Contribution
นอกจากเนื้อหาผลงานที่กระตุ้นให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นในสังคมแล้ว มีหลายครั้งที่ Banksy ก็ทำเพื่อผู้อื่นด้วยตัวเอง เขามักบริจาคผลงานศิลปะของเขาเพื่อเป็นเงินทุนให้กับองค์การการกุศลด้านการ รักษาผู้ป่วยตาบอดและวิจัยโรคทางสายตา และครั้งหนึ่งเขาได้พ่นแท็งค์น้ำอันหนึ่งใน LA ไว้เป็นข้อความว่า “THIS LOOKS A BIT LIKE AN ELEPHANT” เมื่อมีแฟนๆ มารุมล้อมแท็งค์น้ำนี้มากมาย นักสะสมศิลปะคนหนึ่งก็มาซื้อมันไป แต่ว่าที่จริงแล้วแท็งค์น้ำที่ว่าคือบ้านของชายเร่ร่อนคนหนึ่งที่มาอาศัยอยู่เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว เมื่อ Banksy รู้เรื่องนี้เข้า เขาจึงรู้สึกผิดและไถ่โทษด้วยการมอบเงินจำนวนหนึ่งให้ชายคนนี้อยู่ได้สบายๆ เป็นปี นอกจากนี้ Banksy ยังส่งชิ้นส่วนที่ใช้ตกแต่งโปรเจ็ค Dismaland หลังจากถูกรื้อถอนแล้วไปทำเป็นที่พักสำหรับค่ายผู้อพยพใน Calais ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย
The Future
สุดท้าย แล้ว ไม่ว่าชายที่ชื่อ Banksy จะเป็นใคร อยู่ที่ไหน ไม่ว่าผู้คนจะมองว่างานของเขาคือการสร้างสรรค์หรือทำลาย แต่ผลงานที่เต็มไปด้วยพลังของเขานั้นสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่สังคมได้เสมอ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และอย่างที่เห็นว่าเขายังคงผลิตผลงานใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ stencil graffiti หรือ street art แต่มีทั้งงานประติมากรรม, installation art, performance art, ภาพยนตร์สารคดี, คลิปบน YouTube, ไปจนถึงสวนสนุก น่าติดตามว่าต่อจากนี้จะมีอะไรใหม่ๆ แรงๆ โดนๆ มานำเสนออีก และเราก็หวังว่าตัวตนของเขาจะยังเป็นปริศนาต่อไป ไม่งั้นคงหมดสนุกกันแน่ๆ เลย
“Some people become cops because they want to make the world a better place. Some people become vandals because they want to make the world a better looking place.”
– Banksy
(จากหนังสือรวมผลงานของเขาที่ชื่อ “Wall and Piece”)
.