เมื่อปลายปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา โจ้ ณัฏฐพล ศุภวงศ์ หรือที่บรรดานิสิตจุฬาฯ และนักศึกษา ABAC เรียกเขาว่า “อาจารย์โจ้” เคยมาจัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองชื่อ “Linear Moments” ที่ SneakaVilla โดยรวบรวมภาพถ่าย street photography เชิงเรขาคณิตที่มีผู้คนและสถานที่ในเมืองต่างๆ เป็นองค์ประกอบเอาไว้มากมาย หากคุณเคยเข้าร่วมงานครั้งนั้น หรือเคยเห็นผลงานภาพถ่ายของเขามาก่อน อาจจะพอสังเกตได้ว่าสไตล์ภาพเหล่านั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและน่าสนใจไม่น้อย แต่ถ้ายังไม่เคย นี่คือโอกาสดีที่คุณจะได้ชมผลงานที่เขาคัดเลือกมานำเสนอกับเราอีกครั้ง รวมทั้งได้รู้ที่มาของแนวคิดในการถ่ายภาพของชายคนนี้อย่างละเอียดเลยทีเดียว
อาชัพหลักของคุณ
งานหลักผมเป็นอาจารย์สอนภาควิชาสถาปัตยกรรม ที่จุฬาฯ และที่ ABAC แต่จริงๆ แล้วทำหลายอย่าง มีทั้งบริษัทออกแบบ interactive กับ multimedia แล้วก็ถ่ายรูป แต่ว่าไม่ได้ถ่ายรูปเป็นอาชีพ ส่วนใหญ่ทำเป็นงานอดิเรก
“การถ่ายรูปมัน simple มากๆ แม้จะมีเทคโนโลยีของกล้องอยู่ แต่ผลลัพธ์มีแค่ภาพนิ่งเท่านั้น รู้สึกว่ามันยากกว่าเขียนโปรแกรมตั้งเยอะ เลยต้องใช้เวลากับมัน”
เกี่ยวกับงาน multimedia ที่ทำ
ผมชอบงาน graphic ตั้งแต่เด็กๆ แล้วเข้าใจว่าถ้าได้เรียนสถาปัตย์คงได้ทำ graphic ด้วย แต่พอเข้าไปเรียนจริงๆ มันไม่ใช่ หลังจากที่เรียนจบสถาปัตย์ ที่ ABAC พอดีว่า thesis ที่ทำสมัยเรียนมันเกี่ยวกับ digital media คิดว่าน่าจะลองเอาความรู้ในงานสายออกแบบไปลองทำอะไรใหม่ๆ ดู เลยสมัครโปรแกรม Design Technology ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เพิ่งเปิดที่ Parson The New School of Design ในนิวยอร์ค พอเข้าไปเรียนปุ๊บนี่เหมือนต้องเริ่มใหม่เลย เพราะว่าต้องไปเรียนการเขียนโปรแกรม การต่อวงจร เลยมีความรู้ทั้งด้าน hardware และ software รวมถึงการเชื่อมต่อทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ก็ไปอยู่นิวยอร์ค 2 ปี แล้วก็เรียนจบในปี 2549 การได้ไปอยู่ที่นั่นดีตรงที่มันมี inspiration อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับงานออกแบบ เพราะไม่ว่าจะเดินไปไหนก็จะเจอ gallery เจอ museum ตลอด แล้วนักเรียนที่ Parson ก็ได้สิทธิ์เข้า gallery อย่าง MoMA ฟรีด้วย ก็เลยไปที่เหล่านี้เกือบทุกวันเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง
พอกลับมาที่ไทยก็พยายามจะเอาสิ่งนี้มาเป็นอาชีพ เอางาน visual design ผสม lighting บ้าง installation บ้าง ไปทำตามปาร์ตี้ งานคอนเสิร์ต งานอีเวนท์ต่างๆ แล้วก็เปิดบริษัทขึ้นมาชื่อ INT2 Studio ร่วมกับ partner อีกคนหนึ่งที่เขาจะเน้นรับงาน motion graphic ส่วนผมจะเน้น installation ทำมาได้สักพักก็เริ่มมาสอนที่จุฬาฯ ก็มีลูกศิษย์สองคนที่เขาอินกับเรามาก มาฝึกงานกับเราแล้วอยากจะทำงานสายนี้ ผมก็เลยเปิดอีกบริษัทชื่อ Pug-In รับงาน installation เป็นหลัก
หันมาถ่ายภาพอย่างจริงจังได้อย่างไร
ที่ ผ่านมาผมเป็นคนเบื่อง่าย เลยไม่ค่อยรับงานสถาปัตย์เพราะมันยืดเยื้อ แม้ได้ทำงานที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ พอถึงจุดนึงก็เบื่ออยู่ดี แต่การถ่ายรูปมัน simple มากๆ แม้จะมีเทคโนโลยีของกล้องอยู่ แต่ผลลัพธ์มีแค่ภาพนิ่งเท่านั้น รู้สึกว่ามันยากกว่าเขียนโปรแกรมตั้งเยอะ เลยต้องใช้เวลากับมัน พอมีเวลาว่างเลยออกไปทุกวันเลย จุดเปลี่ยนคือตอนปลายปี 2554 ที่ผมได้ไปเจอเว็บไซต์ LFI (Leica Fotografie International) ซึ่งก็เป็นเว็บของแม็กกาซีนแบรนด์ Leica นี่แหละ สงสัยว่าทำไมรูปมันดูดีจัง พอมีเพื่อนให้ลองใช้ Leica ก็เลยชอบและลองซื้อมาใช้ดูว่าเราชอบมันจริงๆ ไหม แล้วก็ใช้มาจนปัจจุบัน ทีแรกก็คิดว่าเราบ้าแบรนด์รึเปล่า แต่ว่าคงไม่ใช่หรอก ยิ่งมีความสุขในการใช้มัน ก็ยิ่งอยากถ่ายรูป
จากนั้นผมก็ลองส่งผลงานที่ถ่ายไว้ไปที่เว็บ LFI แต่การจะให้รูปผ่านมันไม่ใช่เรื่องง่าย เลยพยายามพัฒนาตัวเอง ถ่ายไปเรื่อยๆ ลองหลายๆ แนว พอได้รู้จักกับกลุ่มคนไทยที่เล่นเว็บนี้ด้วยกันเลยรวมตัวกันแล้วตั้งชื่อกลุ่มว่า LTT (ย่อมาจาก LFI Thai Team) ในที่สุด LFI เริ่มเอารูปผมไปลง จนเมื่อปี 2556 เขาก็ติดต่อมาให้ผมทำคอลัมน์ในนิตยสาร 5-6 หน้า ดีใจมาก เพราะผมน่าจะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ได้โอกาสนี้ แล้วคนอื่นๆ ที่ลงคอลัมน์ก็เป็นช่างภาพระดับโลกทั้งนั้น ผมเริ่มต้นจากการดูเขาเป็นแบบอย่าง จนวันหนึ่งได้ไปลงคอลัมน์ ทั้งที่ไม่ได้มีประสบการณ์ยาวนาน ใช้แต่ความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ทุกวันๆ LFI เลือกงานที่เขาเห็นว่าเป็นตัวผมเองที่สุดมาชุดหนึ่ง มีความเป็น graphic เน้น composition เน้นจังหวะ ถือเป็นงานชิ้นที่ภูมิใจที่สุดครับ ทำให้ผมฮึกเหิมมากและคิดว่าบางทีแนวนี้อาจจะเป็นแนวทางที่ใช่ ก็เลยถ่ายแนวนี้ต่อไป จนมีคนเริ่มจำได้ว่าภาพแบบนี้เป็นแนวผม
“ผมเริ่มต้นจากการดูเขาเป็นแบบอย่าง จนวันหนึ่งได้ไปลงคอลัมน์ ทั้งที่ไม่ได้มีประสบการณ์ยาวนาน ใช้แต่ความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ทุกวันๆ”
คุณนิยามภาพถ่ายแนวที่ว่าอย่างไร เรียกว่า street photography ได้ไหม
จริงๆ แล้วคำว่า street photography มันกว้างมาก แต่ของผมมันจะเป็นสายหนึ่งที่เรียกว่า “urban life” ก็คือเน้นความเป็นเมือง มี layer มี element ต่างๆ ของเมืองมาเป็นองค์ประกอบในลักษณะที่เป็น graphic ซึ่งผมจะเลือกมุมที่ที่คิดว่าลงตัวในแง่ของ composition แล้วก็รอ เพื่อที่จะถ่ายรูปในแบบที่ต้องการในหัวให้ได้ ภาพที่ออกมาเลยเหมือนกับว่ามีการจัด composition ไว้แล้ว แต่จริงๆ แล้ว composition นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามันไม่มีคนเดินเข้ามา ซึ่งมันยากนะ เพราะในเมืองมันมีคนเยอะ ซึ่งทาง LFI เขาเห็นว่าท่าทางการเดิน หรือเสื้อผ้าของคนในรูปมันสอดคล้องกับฉากที่อยู่ข้างหลัง พูดง่ายๆ คือเราก็ต้องรอ content ที่พอดีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าถ่ายใครก็ได้ แต่ในความเป็นจริงมันเลือกแทบไม่ได้เลย การรอนานๆ ไม่สำคัญเท่ากับว่ากดไปกี่รูป(หัวเราะ) แล้วส่วนใหญ่ผมจะโชคดีคือไม่ได้รอนาน แต่มันได้จังหวะพอดี
อย่างรูปที่ผมถ่ายคนกับป้าย EM District ที่มีคนเอานิ้วปิดปาก พอดีว่ามีฝรั่งคนนึงเดินมาทำท่าเดียวกันพอดี อีกรูปที่เป็นรูปคนทาลิปสติกสีชมพู ก็มีผู้หญิงใส่กางเกงสีชมพู กางร่มสีชมพูเดินมาพอดี เพราะว่าการถ่าย street photography มันจัดฉากไม่ได้ แต่มันต้องตั้งใจ ต้องใช้เวลา บวกกับความพอดีของจังหวะด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้
แรกสุดผมซื้อ Leica X1 ที่เป็น compact ธรรมดาเลย แม้จะตัวเล็ก ถ่ายวิดีโอไม่ได้ด้วย โฟกัสก็ช้าสุดๆ ราคาก็แพงเลยล่ะ แต่ไม่รู้ทำไมเวลาดูรูปแล้วมันได้ฟีลดีจัง ที่ซื้อเพราะอยากจะลอง Leica ดูสักตัวก่อน พอใช้ได้ไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็ต้องไปถอยตัวที่อยากจะได้จริงๆ คือ กล้อง Leica M9 ชอบคาแร็คเตอร์อะไรบางอย่างของมัน เลนส์ที่ใช้ประจำก็คือ 35mm กับ 90mm ที่เอาไว้ถ่าย portrait ได้ ใช้เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว แต่ในอนาคตถ้ามีเงินเยอะๆ อาจจะซื้อแหลกก็ได้นะ(หัวเราะ)
ขั้นตอนการแต่งภาพ
ผม ก็ใช้ Lightroom ขยับ contrast ทำ sharpness นิดหน่อย แล้วจุดเด่นของ Leica M9 คือมันทำอะไรแบบนี้ได้เนียนมาก อย่างถ่ายพวกคนแก่ ผมจะเน้นรอยย่นบนใบหน้า ก็จะดึงให้มันคมขึ้นหน่อย ถ้าเป็นผู้หญิงสาวๆ ก็จะดึงให้ซอฟท์หน่อย บางครั้งอาจจ dim สีลงบ้าง ก็เลยเริ่มเข้าใจศาสตร์แห่งการแต่งรูปมากขึ้นว่ามันเป็นเพราะกล้องด้วย แล้วหลังๆ มาก็เริ่มรู้สึกว่ารูปที่ดีคือรูปที่ไม่ต้องแต่ง เลยแทบจะไม่ process อะไรเพิ่มเลย ยิ่งแต่งหนักๆ ยิ่งรู้สึกว่ามันแย่ลง แต่งรูปแล้วจะรู้สึกผิด(หัวเราะ) อาจจะมี crop บ้างเพราะกล้องผมมันไม่ค่อยตรงกับภาพที่เห็นใน viewfinder นัก
จากที่ได้ไปเที่ยวมา ชอบถ่ายรูปที่ไหนบ้าง
ผม เป็นคนชอบไปที่ซ้ำๆ เนื่องจากพอกลับมาเมืองไทยก็คิดถึงนิวยอร์ค ผมเลยกลับไปที่นั่นแทบทุกปีเลย นอกจากนั้นที่ไปซ้ำๆ ก็ไปเกาหลี ปีที่แล้วได้ไปอิสตันบูล มีอะไรที่น่าถ่ายในเชิง street photography เยอะมาก ทั้งสถาปัตยกรรม ทั้งผู้คน แม้คนที่นั่นอาจจะดูโหดๆ แต่จริงๆ เขาเป็นมิตรมาก พอเห็นเรามีกล้องก็เรียกเรามาถ่ายรูปเลย ค่าครองชีพก็ไม่ได้แพงอะไร ปีนี้ก็เลยกลับไปอีก
คนที่เป็นแรงบันดาลใจ
พอ เริ่มรู้จักช่างภาพสาย street photography ก็เริ่มมีหลายคนเป็นแรงบันดาลใจ คนหนึ่งที่ชอบก็คือ Alex Webb ผมคิดว่าเขาเจ๋ง บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม รูปที่เขาถ่ายมันมี composition มี layer ที่น่าสนใจ แต่เป็นคนละแนวกับผมนะ งานผมจะไปคล้ายกับช่างภาพกลุ่ม iN-PUBLiC มากกว่า คือไม่ได้อลังการ แต่มันมีเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ในภาพ ส่วนคนที่ไม่ใช่ช่างภาพแต่เป็นแรงบันดาลใจเหมือนกันก็คือเพื่อนๆ ในกลุ่ม LTT นี่แหละ เพราะพวกนี้เขาก็ไม่ใช่ช่างภาพอาชีพหรอก บางคนก็เป็นนักวิเคราะห์ตลาดหุ้น บางคนก็ขายเสื้ออยู่ที่ห้างแพลตตินัม เพราะว่าการถ่ายแบบนี้มันเป็นงานอดิเรกมากกว่า แต่เรามาเจอกันเพราะ social media เขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้เพราะว่าเราบ้าอะไรคล้ายๆ กัน เอารูปมาอวดกัน คุยกัน
“การถ่ายรูปทำให้ผมเปลี่ยนความคิด จากที่ไม่ชอบตากแดด ก็ยอมตัวดำ ผิวลอกเพื่อจะได้ออกไปถ่ายรูป แล้วยิ่งถ่ายยากๆ พอได้รูปที่ต้องการ ยิ่งรู้สึกดี สนุก แม้คนอื่นจะไม่รู้”
ภาพที่ประทับใจที่สุดคือภาพไหน เพราะอะไร
ตอนหลังๆ ที่ถ่ายรูปแนวนี้ส่วนใหญ่มันจะเป็นซีรีส์ คือเอาองค์ประกอบของหลายๆ รูปมารวมกัน ลำพังรูปเดียวอาจจะไม่ได้โดดเด่นมาก แต่พอมารวมๆ กันแล้วมันเกิดเป็นซีรีส์ จริงๆ แล้วรูปที่ผมประทับใจที่สุดไม่ใช่รูปแนวที่ผมถ่ายบ่อยๆ แต่มันมีความทรงจำอะไรบางอย่าง เป็นช่วงแรกๆ ที่ผมถ่ายเลย ซึ่ง LFI ขอรูปนี้ไปลงหนังสือรูปแรกด้วย เป็นรูปนางแบบฝรั่งที่ผมไปถ่ายมาในงานของ Leica เองนี่แหละ มันมีความบังเอิญบางอย่าง ด้วยจังหวะที่เกิด lens flare เกิดเส้นโค้งสีชมพูที่บังเอิญไปตรงกับปากของนางแบบพอดี
ส่วนรูปแนวที่ผมถ่ายอย่างทุกวันนี้ที่ผมชอบมากๆ คือรูปที่เกาหลี ตอนนั้นอากาศหนาวมาก มือแทบจะกดชัตเตอร์ไม่ได้เลย วิ่งเข้าไปในตึกเพื่อหลบความหนาว แล้วกัดฟันวิ่งออกมาอีกเพื่อพยายามถ่ายรูปต่อ เป็นรูปขาว-ดำ ที่เห็นคนอยู่ไกลๆ องค์ประกอบส่วนใหญ่ของรูปนี้เป็นสถาปัตยกรรม ผมรอนานมากที่จะให้ใครสักคนเดินผ่านไปให้ได้ แล้วอาคารหลังนี้มันยังไม่ได้เปิดต่อสาธารณะ ก็เลยยังมีคนเดินผ่านน้อยมาก อย่างมากก็ช่างไฟ แต่พอมีจังหวะที่แสงพาดลงมา มีคนเดินมาในตำแหน่งที่ผมต้องการพอดี ผมก็คิดว่ามันหาจังหวะแบบนี้ไม่ได้แล้วล่ะ แล้วรูปนี้ถือเป็นรูปแรกที่สามารถทำเงินได้ด้วย(หัวเราะ)
การถ่ายภาพให้อะไรกับคุณบ้าง
ให้เยอะนะครับ การถ่ายรูปทำให้ผมเปลี่ยนความคิด จากที่ไม่ชอบตากแดด ก็ยอมตัวดำ ผิวลอกเพื่อจะได้ออกไปถ่ายรูป แล้วยิ่งถ่ายยากๆ พอได้รูปที่ต้องการ ยิ่งรู้สึกดี สนุก แม้คนอื่นจะไม่รู้ ได้เพื่อนด้วย แม้จะไม่ได้เจอกันในชีวิตประจำวัน แต่มี passion คล้ายกัน คุยกันรู้เรื่อง แล้วก็ได้ทำงานใหม่ๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้ผมได้ในระดับหนึ่ง มีสื่อมาสัมภาษณ์ แล้วตรงนั้นก็ทำให้ Leica ของไทยเชิญผมไปบรรยาย ไปจัด workshop ด้วย
เคยคิดที่หันมาถ่ายภาพเป็นอาชีพหลักไหม
เคยคิดครับ เรียกว่าใฝ่ฝันเลยล่ะ ถ้าวันหนึ่งผมมีโอกาส มีความพร้อมมากกว่านี้ มีเงินจากมันเข้ามาเรื่อยๆ สามารถสร้างอาชีพได้จริงๆ ก็อยากจะทำเต็มตัวเลย แต่วันนี้ยังต้องทำงานประจำเลี้ยงชีพอยู่
วางแผนการในอนาคตไว้อย่างไร
หลังจากเคยลงนิตยสารมาแล้ว เคยแสดงนิทรรศการเดี่ยวเล็กๆ มาแล้ว ต่อไปคงต้องสะสมผลงานต่อไปอีกเยอะๆ แล้วค่อยรวบรวมเป็น photo book ซึ่งตอนนี้ยังมีเยอะไม่พอ เคยมีคนบอกว่า “คนเราจะเริ่มถ่ายรูปเป็นหลังจากที่ถ่ายไปแล้วหนึ่งแสนรูป” เพราะว่าคนเราไม่ใช่ว่าจู่ๆ มันจะถ่ายรูปดีเลย มันต้องค่อยๆ สะสม บางทีถ่ายไปพันรูป แต่อาจจะมีแค่รูปเดียวที่ใช้ได้จริงๆ แต่ถ้าผ่านไปสิบปี อาจจะได้สิบรูปที่เหมาะสม แล้วค่อยเอาไปรวมในหนังสือ หรือจัดนิทรรศการเดี่ยวแบบเต็มรูปแบบอีกที แล้วส่วนใหญ่คนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกจริงๆ จะเป็นคนที่มีอายุด้วยครับ
“คนเราไม่ใช่ว่าจู่ๆ มันจะถ่ายรูปดีเลย มันต้องค่อยๆ สะสม บางทีถ่ายไปพันรูป แต่อาจจะมีแค่รูปเดียวที่ใช้ได้จริงๆ”
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงได้เห็นแล้วว่าภาพถ่ายของโจ้นั้นโดดเด่นแค่ไหน จากนี้ไปคงไม่มีใครรู้ว่าผลงานของเขาจะพัฒนาต่อไปในทิศทางใด แต่เราเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เขาจะกลับมาพร้อมกับภาพถ่ายซีรีส์ใหม่ที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
About Nattapol:
- ยึดคติว่า ถ้าไปโลเกชันไหนแล้วคิดว่าถ่ายไม่ดี จะไม่ฝืนถ่ายต่อ เปลี่ยนที่ดีกว่า
- ใช้ชื่อในเว็บ LFI ว่า “Joexpo” และมีผลงานส่วนหนึ่งถูกเลือกไปเผยแพร่ที่เว็บนี้
- ได้ เกียรตินิยมอันดับหนึ่งสมัยเรียนที่ Parson The New School of Design และมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินระดับโลกในสาย new media และ interactive installation art อย่าง Zachery Lieberman, Evan Roth และ Paul Notzold รวมถึงหน่วยงานทั้งของรัฐและบริษัทเอกชนชื่อดังในอเมริกาด้วย
website: http://www.joexposure.com/
blog: https://joexpo.wordpress.com/
Interviewed by Ballisticone
Edited by Pakazite