เชื่อว่าชื่อของ ‘คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง’ คงเป็นที่คุ้นเคยของใครหลายคนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเคยอ่านนิตยสารอย่าง A Day หรือ Hamburger สองนิตยสารขวัญใจวัยรุ่น เพราะเขาคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังภาพถ่าย ในฐานะของหัวหน้าช่างภาพของนิตยสารทั้งสองเล่ม นอกจากนี้เขายังมีผลงานการถ่ายโฆษณา และ Lookbook ของแบรนด์ต่างๆมากมาย เรียกได้ว่าดารานักร้องชั้นนำของประเทศไทยล้วนเคยถูกเขาบันทึกภาพมาแล้วทั้งสิ้น บทสัมภาษณ์นี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเขามากขึ้น ทั้งเบื้องลึกและเบื้องหลังกระบวนการทำงานรวมถึงแนวคิดของเขาซึ่งคุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน
เริ่มถ่ายภาพได้อย่างไร
เริ่มจากการเรียนถ่ายภาพจากมหาวิทยาลัยรังสิต แต่ตอนนั้นไม่ได้มีความคิดว่าจะยึดเอาการถ่ายภาพเป็นอาชีพเพราะช่วงมัธยมก็ไม่ได้เรียนสายศิลป์หรือเคยถ่ายภาพมาก่อนเลย ที่จริงเราเพียงแค่อยากทำงานศิลปะ เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่เท่มากในสมัยนั้น และตอนนั้นอาชีพช่างภาพก็ไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนทุกวันนี้
แต่เหมือนกับว่าทุกอย่างมันเป็นไปเอง โชคดีที่เราได้ไปฝึกงานได้เจอผู้คนมากขึ้น จนได้มีโอกาสมาเป็นช่างภาพอาชีพเต็มตัว สมัยนั้นเรามีเป้าหมายเพียงแค่ว่า เราต้องเป็นคนดังให้ได้ ทำให้ต้องพัฒนาผลงานของตัวเองให้มีความชัดเจน อาศัยวิธีการศึกษาจากการเสพงานของคนอื่น เพราะสมัยนั้นไม่มี Facebook ให้เราแสดงตัวตนออกมา วิธีเดียวที่จะทำได้คือการพัฒนาฝีมือ
เริ่มมีความชัดเจนตอนไหน
เริ่มจากมีเพื่อนคนหนึ่งชวนเราไปถ่ายภาพหนังสือของก้านคอคลับ ด้วยเหตุผลว่าเราถ่ายคนได้ดีและน่าจะมาลองทำดู นั่นจึงเป็นผลงานชิ้นแรกๆที่เราได้ถ่ายคน ทุกวันนี้เราก็ยังไม่ลืมคำพูดของเพื่อนคนนั้น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราหันมาศึกษาเกี่ยวกับการถ่ายภาพคนมากขึ้น อ่านหนังสือจิตวิทยาเรื่องการวิเคราะห์คนมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการถ่ายรูปแต่เราต้องรู้ว่าคนถูกถ่ายเขาคิดอย่างไร ฟังเวลาเขาสัมภาษณ์ก่อนที่จะถูกถ่าย ดูบุคลิค สายตา ท่าทางต่าง ว่าเขาคิดอะไรและถ่ายทอดความเป็นเขาออกมา
สไตล์การถ่ายภาพ
ที่จริงแล้วก็คือสไตล์ portrait ที่มีความเป็นแฟชั่นเข้ามาผสมอยู่ด้วย ไม่ใช่ portrait แบบซีเรียส แต่ความเป็นจริงแล้วภาพ portrait จะเน้นเรื่องราวและการสื่ออารมณ์ของคนที่ถูกถ่าย หรือจะให้แบบยืนถ่ายนิ่งๆเหมือนภาพวาดก็ได้ ตอนนั้นเราก็ศึกษาด้วยการไปดูงานที่ gallery ต่างประเทศเราจะเห็นว่าภาพ portrait จะมีเรื่องราวของอารมณ์ที่ออกมาจากสายตา ทำให้สไตล์ของเราเน้นไปที่การดึงอารมณ์ของตัวแบบ
เทคนิคที่ใช้
เน้นความผ่อนคลายของตัวแบบ สิ่งที่เราต้องการว่าเราอยากได้ภาพแบบไหน บอกกับเขา ยิ่งแบบเป็นดาราก็เหมือนกับการลองของว่าเขาเจ๋งจริงไหม ไม่ใช่ว่าเป็นดาราขายแต่หน้าตาแต่การแสดงไม่ได้ สังเกตได้ว่าดารารุ่นเก่าหรือคนที่ได้รางวัลมามากๆ จะมีการแสดงอารมณ์ออกมาได้ดีกว่าดาราหรือนางแบบรุ่นใหม่ๆ แต่เราก็จะมีเทคนิคส่วนตัวคือการหยอกล้อหรือให้เขาคิดก่อนว่าเราต้องการแบบไหน ให้เขามีอารมณ์แบบนั้น
ความสำคัญของตัวแบบ
เราก็เคยคิดเหมือนกันเรื่องนี้ เพราะเวลาเราดูหนังสือเมืองนอก ก็จะสงสัยว่าทำไมตัวแบบของเขาดูดีจัง หรือเวลาช่างภาพฝรั่งมาถ่ายคนไทยเขาก็ทำออกมาได้ดี เราจึงได้ข้อสรุปว่าเป็นเรื่องของรสนิยมคนถ่ายว่าจะถ่ายทอดออกมาแบบไหน ช่างภาพคนไหนเสพงานข่าวหรือสารคดีมากๆ งานของเขาจะสื่อออกมาแบบนั้น เหมือนเวลาเราถ่ายฟิล์มออกมาม้วนหนึ่งมี 36 รูปทุกคนยังเลือกรูปที่ตัวเองคิดว่าสวยแตกต่างกัน นั่นคือเรื่องของรสนิยมว่าเขาเสพงานมากน้อยแค่ไหน กลับมาที่คำถามว่าตัวแบบมีความสำคัญไหม เราว่าอยู่ที่ตัวช่างภาพมากกว่าว่าจะถ่ายทอดออกมาแบบไหน สมัยก่อนจึงมีคำพูดว่าช่างภาพคืองานที่ถ่ายทอดมุมมอง ไม่ใช่ถ่ายทอดเทคนิคเหมือนสมัยนี้ เวลาเราทำงานจึงให้ความสนใจกับไอเดียที่ใส่เข้าไป เพราะคนที่ถูกเราถ่ายต้องมีอารมณ์มีชีวิตชีวาเพราะเขาเป็นมนุษย์ไม่ใช่หุ่น และนั่นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องดึงอารมณ์นั้นออกมา
อุปกรณ์ที่ใช้
บอกก่อนเลยว่าเราเป็นคนที่แอนตี้อุปกรณ์ตั้งแต่เรียนจบ เพราะเราคิดเสมอว่าภาพถ่ายทำไมถึงต้องยึดติดกับอุปกรณ์ เมื่อก่อนเราใช้เลนส์ระยะ 24-105 เพียงตัวเดียว จนทำงานมา 4-5 ปี ถึงซื้อเลนส์ระยะ 24-70 มาเพิ่ม ถึงเข้าใจว่าอุปกรณ์ที่ดีมีส่วนช่วยให้งานเราดีขึ้นได้ ช่วงหลังจึงเริ่มซื้อเลนส์และอุปกรณ์ดีๆเพิ่มขึ้น
การ process ภาพ
เราโตมาในยุคคาบเกี่ยวระหว่างดิจิตอลและอนาล็อก ตอนจบมาใหม่ๆเราแอนตี้ดิจิตอลมากๆ จนทำงานได้เกือบ 6 ปี ถึงเริ่มรู้สึกว่างานเราออกมาแล้วยังไม่ใช่ จะมารอให้เขารีทัชน์ให้ตลอดไม่ได้ เราจึงเริ่มซื้อหนังสือ ซื้อคอมพิวเตอร์มาฝึกเองตอนนั้น อีกวิธีหนึ่งคือส่งไปให้รุ่นน้องที่เก่งด้านนี้ทำ และเราขอนั่งดูเวลาเขาทำงานด้วย หรือไม่ก็จ้างผู้ช่วยเก่งๆและแอบจำวิธีการและเก็บประสบการณ์เรื่อยๆ หรือแม้แต่เวลาเราไปสอนที่ไหนเราก็เรียนรู้จากเด็กที่เราสอน ทุกวันนี้ก็ยังไม่เก่งแต่ยังพอทำได้บ้าง
สิ่งที่ทำให้ผลงานโดดเด่น
เราคงไม่กล้าให้บรรทัดฐานตัวเองว่าโดดเด่นเรื่องอะไรและเพราะอะไรคนถึงเลือกเรา แต่เท่าที่เขาบอกกันคืองานของเรามีการถ่ายทอดอารมณ์ของแบบออกมาได้ดีมากกว่า
ภาพถ่ายที่ประทับใจ
เป็นรูปที่ถ่าย ดา เอ็นโดรฟิน ภาพนี้เกิดจาก reference ที่เก็บไว้ในหัว เพราะตอนนั้นทั้งหน้าและท่าทางของเขาคล้ายกับโปสเตอร์ pin up girl แล้วจึงบอกให้ผู้ช่วยถอดเสื้อและไปยืนเป็นโคมไฟมนุษย์แบบหนังเรื่อง A Clockwork Orange ของผู้กำกับ Stanley Kubrick จึงออกมาเป็นภาพนี้
กระบวนการไหนสำคัญที่สุด
คิดก่อนสำคัญที่สุด สมัยก่อนเราต้องไปนั่งฟังเขาสัมภาษณฺ์ก่อนว่าพูดเรื่องอะไร และเราจะถ่ายทอดอะไร และจึงคิด theme ให้เขาก่อนลงมือถ่ายทุกครั้ง แต่สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนเพราะคนไม่ค่อยกลัวกล้องกันแล้ว สมัยก่อนแค่จะขอถ่ายรูปเด็กที่ใส่สายเดี่ยวทั้งเราแล้วเขาเขินแล้วเขินอีก แต่ความยากของสมัยนี้คือทุกคนรู้มุมหน้าของตัวเอง ทำให้เราถ่ายทอดสิ่งที่คิดออกมาได้ยากขึ้น เรามองว่าสมัยนี้ถ่ายรูปเสร็จก็นำมา process ใน photoshop จนลืมเรื่องไอเดียที่ใส่ลงไป ถ้าสนใจแต่ภาพถ่ายแต่ไม่รู้เรื่องกราฟฟิคเลยเราก็จะวางเลย์เอ้าท์ให้คนอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักมองให้หลากหลายดูงานให้หลายแขนง และมาประยุกต์ใช้กับงานของเราให้เราสนุกกับงานมากขึ้น
สิ่งที่ได้จากการถ่ายภาพ
หลักๆแล้วคือรายได้ คือความพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ เพราะเราเริ่มจากเงินเดือน 8000 บาท และเราไม่ได้มาจากนามสกุลดีๆ เรามาตามขั้นตอนของเรา เราจึงมีความสุขกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ที่เหลือคือเวลาออกไปถ่ายงานต่างจังหวัดเราก็ได้เที่ยว เพราะปกติแล้วเราไม่ชอบออกจากกรุงเทพฯแต่พอเราออกไปต่างจังหวัดเราก็จะได้คิดอะไรมากขึ้น
เป้าหมายในอนาคต
อยากทำอีกหลายอย่างเพราะพลังงานเราเหลือเยอะ อยากทำสตูดิโอสำหรับถ่ายสุนัขและเด็ก อยากทำหนังสั้น อยากจัดงานแสดงผลงานปีละครั้ง อยากทำมากมายไปหมดแต่จะได้ทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง
ภาพที่อยากถ่าย
เราเคยคิดว่าอยากถ่ายภาพคนช่วงก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ซึ่งมันอาจจะฟังดูดาร์กหน่อย แต่เพราะเราเคยดูผลงานของช่างภาพชื่อ Richard Avedon ซึ่งเขาได้ถ่ายภาพพ่อของเขาขณะที่กำลังป่วยอยู่โรงพยาบาลก่อนจะเสียชีวิต รวมถึงภาพที่เขาถ่าย Charlie Chaplin ที่หัวเราะได้อย่าเป็นธรรมชาติที่สุด จนถึงขนาดว่าเมื่อลูกเขาได้เห็นผลงานชิ้นนี้ถึงกับร้องไห้ เราว่านี่คือความฝันของคนถ่ายรูป portrait ที่อยากทำให้มันดีได้ขนาดนั้น
อยากฝากอะไรถึงคนที่เป็นช่างภาพ
อย่างที่ฝากทุกคนและทุกปีที่สอนว่าให้จินตนาการอยู่เหนืออุปกรณ์ อยากให้ดูงานให้มากขึ้นอย่านั่งเทียนคิดเอาเองว่านี่คือภาพที่สวย ทุกวันนี้ตัวเราเองยังศึกษาอยู่ทุกวัน เพราะไม่มีใครเป็นเทพตลอดเวลา อย่ายึดติดกับสิ่งที่ทำให้เรามีชื่อเสียง เราต้องพัฒนาขึ้นเรื่อยๆอย่าหยุด เพราะศิลปะเหมือนการขโมยแต่คุณต้องขโมยแล้วใส่ความเป็นตัวเองและลายเซ็นของคุณเข้าไป