#SneakaProfessional คอลัมน์ที่จะพาคุณไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของบุคคลที่มีความชำนาญ และเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ ที่เป็น sub culture หรือเกี่ยวข้องกับความเป็น street culture พร้อมล้วงลึกไปถึงจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น รวมไปถึงเทคนิคลับเฉพาะที่พวกเขาไปเคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
“มีใครบ้างไม่อยากทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก ?”
เชื่อว่ามนุษย์เกือบค่อนโลกต่างมีจุดหมายและความฝันร่วมกัน คือการได้ทำงานที่ตนเองรักและมีความสุขกับงานทำงานในทุกวัน เช่นเดียวกับ “เฟรย์-ณทพน จารุวัชระพน” ช่างภาพผู้หลงใหลการบันทึกภาพลงแผ่นฟิล์ม และเป็นผู้ก่อตั้ง สตูดิโอล้างฟิล์มเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ อย่างวงเวียน 22 ซึ่งเขากับ “ง้วน-พลเสฏฐ์ โลหะชาละธนกุล” ช่างปั้นเซรามิกเพื่อนสนิทของเขา ที่ตัดสินใจหลีกหนีความวุ่นวายของเมืองกรุงมาเปิดร้านคาเฟ่เล็กๆ ชื่อ และดัดแปลงส่วนของชั้นสองกับสามให้เป็นสตูดิโอสนองความต้องการของพวกเขาเอง
พวกเราเดินทางมาถึง ในช่วงบ่ายๆ ของวันอังคารซึ่งเป็นวันที่ส่วนของคาเฟ่ชั้นแรกปิด ทำให้บรรยากาศในวันนั้นค่อนข้างเงียบกว่าปกติ ความรู้สึกแรกเมื่อก้าวเข้าสู่สตูดิโอเล็กๆ ของเฟรย์นั้น แตกต่างจากห้องมืดทั่วไปที่เรารู้จัก เพราะเป็นห้องที่ค่อนข้างโปร่ง มีแสงสว่างจากหน้าต่างบานใหญ่ และฝาพนังที่เต็มไปด้วยภาพถ่ายขาวดำที่เขาล้างและอัดด้วยมือตัวเอง รวมถึงภาพจากคอนเสิร์ตต่างๆ ซึ่งเขามีโอกาสไปถ่าย
“ดนตรีเปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เพราะเราอยู่กับมันตลอดไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาสุขหรือทุกข์ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราชอบถ่ายรูปคอนเสิร์ต เพราะมันเป็นการผสานสองสิ่งที่เรารักมากไว้ด้วยกัน นั่นคือเรื่องของดนตรีและการถ่ายภาพ” เฟรย์เอ่ยขึ้นขณะที่เรากำลังมองภาพบนฝาผนัง
“คอนเสิร์ตแรกที่ผมได้ถ่ายคืองานของวง Blood Orange ซึ่งเดินทางมาเมืองไทย และเผอิญเรารู้จักกับทีมผู้จัดพอดี เลยบอกเขาไปตรงๆเลยว่าอยากถ่ายภาพงานนี้ เพราะเราไม่ใช่คนที่จะรอโอกาสเข้ามาหาตลอด แต่ต้องรู้จักวิ่งเข้าไปหาโอกาสบ้าง” เขากล่าวถึงสองสิ่งที่เขาหลงใหลที่สุดในชีวิต และจุดเริ่มต้นของภาพถ่ายบนพนังให้เราฟัง
แม้จะเป็นสตูดิโอขนาดเล็กแต่ก็เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ครบครันสำหรับการล้างฟิล์มรวมถึงอัดภาพ และเมื่อมาถึงสตูดิโอของเขาแล้ว เราจึงตัดสินใจที่จะถ่ายภาพทั้งหมดในบทความนี้ด้วยฟิล์ม และล้างสแกนที่สตูดิโอของเขาเลย และใช้เวลาระหว่างกระบวนการล้างสนทนาถึงเรื่องราวต่างๆ ของผู้ชายคนนี้
“ผมเริ่มถ่ายภาพด้วยระบบดิจิตอลมาก่อน เพราะอากงของผมเป็นคนชอบถ่ายภาพ เลยให้กล้องคอมแพคผมตัวหนึ่งมาลองฝึกสมัยมัธยม จนแน่ใจแล้วว่านี่แหละคือตัวเรา เลยตัดสินใจเลือกเรียนโฟโต้ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งโชคดีที่ได้เรียนวิชาถ่ายภาพฟิล์มเบื้องต้นเล็กน้อยจากตรงนั้น หลังจากเรียนจบเราก็ได้มาเป็นผู้ช่วยช่างภาพที่อมรินทร์ประมาณ 3 ปี ซึ่งตอนนั้นก็ดัดแปลงห้องน้ำที่ทำงานเก่าเป็นห้องมืดล้างฟิล์มของตัวเอง แต่หลังจากที่ออกจากงานประจำมาก็ไม่มีที่ล้างเป็นหลักแหล่ง จนได้เข้ามาสอนล้างฟิล์มอยู่ที่ HUBBA-TO ทำให้เจอกับง้วนซึ่งเป็นช่างปั้นเซรามิกที่นั่น และได้ชวนกันมาเปิดสตูของตัวเองในที่สุด”
“ตอนแรกที่เราทำไม่ได้คิดว่าจะเปิดเป็นสตูจริงจัง เหตุผลเพราะเราอยากมีห้องมืดล้างฟิล์มเอง และอาจจะล้างให้คนรู้จักนิดหน่อยแค่นั้น เลยเริ่มทำทุกอย่างทั้งหมดด้วยมือตัวเอง จริงๆ คิดว่าอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของเรา เคยเห็นห้องมืดที่ไหนสูบบุหรี่ได้ไหมละ” เขาหัวเราะก่อนจะหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ
หลงเสน่ห์อะไรของการถ่ายฟิล์มถึงทำขนาดสร้างห้องมืดของตัวเองขึ้นมา ?
“เราเคยอยากเป็นช่างภาพแฟชั่นเหมือนช่างภาพคนอื่น แต่พอคิดทบทวนดูแล้วรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่สไตล์ที่เราชอบ บวกกับเราเป็นสาย documentary ด้วย เลยชอบอะไรที่มันเป็นความจริงมากกว่า รวมถึงเราชื่นชอบงานถ่ายสตรีทของช่างภาพสมัยเก่าด้วย เลยตัดสินใจขายกล้องดิจิตอลที่เรามีทั้งหมดทิ้งแล้วซื้อกล้อง Leica M6 และใช้ฟิล์มถ่ายภาพมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ”
เหตุผลที่ทำให้ช่างภาพคนหนึ่งหันมาใช้กล้องฟิล์มอย่างจริงจัง
“เวลาเราถ่ายดิจิตอลทุกอย่างมันฟรีหมดจะถ่ายทิ้งถ่ายขว้างอย่างไรก็ได้ ต่างจากฟิล์มที่ทุกภาพมันมีมูลค่าที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ใช้กระบวนการคิดมากขึ้นก่อนลั่นชัตเตอร์และต้องตั้งใจมากกว่าเดิม แต่เสน่ห์ของมันคือขั้นตอนหลังจากนั้นมากกว่า นั่นคือขั้นตอนการล้างฟิล์มที่เราเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปถึงตอนที่ถ่ายภาพ ว่าขณะนั้นเรากำลังคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ ดังนั้นเราจึงจำได้ทุกภาพว่าเราถ่ายตอนไหนบ้าง และอารมณ์ตอนถ่ายเป็นอย่างไร”
“การล้างฟิล์มเองทำให้เราสามารถควบคุมคุณภาพทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง เพราะการถ่ายฟิล์มเป็นเรื่องของความผิดพลาด ซึ่งเราอยากให้มันผิดพลาดจากตัวเราเองมากกว่าคนอื่น การถ่ายฟิล์มสอนให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น และต้องรู้จักปล่อยวาง เพราะต่อให้เราตั้งใจเพียงใดมันก็มีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ ดังนั้นเราต้องมีสมาธิและเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา”
“นอกจากนี้การล้างฟิล์มให้คนอื่นเหมือนได้พัฒนาตัวเองทางอ้อม โดยที่เราไม่จำเป็นต้องหยิบกล้องออกไปถ่ายภาพ เพราะการได้มองเห็นและศึกษาจากมุมมองของช่างภาพคนอื่นสามารถนำสิ่งนั้นมาต่อยอดได้ บางทีเราชอบนั่งดูภาพจากฟิล์มเขาอื่นและนั่งคิดว่าตอนนั้นเขากำลังคิดอะไรอยู่ เหมือนกับการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของเขา ซึ่งมันสนุกดีนะ” เขาอธิบายถึงงานที่ทำด้วยสีหน้าที่เรียบเฉย แต่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกผ่านน้ำเสียงและแววตา
เพราะภาพที่ถ่ายส่วนมากเป็นแนวสตรีท เลยเลือกที่จะใช้ฟิล์ม ?
“เราก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าเราถ่ายภาพแนวไหน จะบอกว่าสตรีทได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่มันเปรียบเหมือนกับไดอารี่ส่วนตัว ที่บันทึกทุกเหตุการที่ผ่านมาในชีวิตไว้บนฟิล์ม ภาพถ่ายของเราอาจจะจำกัดความได้หลากหลายตามแต่ละคนจะเรียก แต่สำหรับเราภาพถ่ายมันก็คือภาพถ่าย”
“อย่าง Garry Winogrand ช่างภาพที่เราชอบและทำให้หันมาถ่ายภาพฟิล์มอย่างจริงจัง ก็มีงานที่อาจจะจำกัดความได้ว่าเป็นสตรีท แต่ก็เป็นภาพสตรีทที่มีความจริงเป็นภาพถ่ายเชิงสารคดีเก็บเรื่องราวมากกว่าจะพยายามให้เป็นภาพสตรีทแบบที่ทุกคนเข้าใจส่วนช่างภาพอีกคนที่เราชอบและมีอิทธิพลกับงานของเราคือ Ray Barbee เพราะเขาเป็นทั้งนักดนตรีซึ่งเราชอบงานเพลงของเขา และเขายังชอบถ่ายภาพด้วยฟิล์มเหมือนกันอีกด้วย”
กระแสฟิล์มทุกวันนี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง อยากให้ลองแนะนำคนรุ่นใหม่ที่อยากลองถ่ายภาพฟิล์ม
“อย่างแรกต้องเตรียมเงินให้พร้อมก่อน (หัวเราะ) ความจริงอยากเริ่มก็แค่ออกไปถ่ายภาพ และเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะผมเองก็พลาดมาไม่น้อยและนำสิ่งเหล่านั้นมาแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา อย่างที่บอกว่าการถ่ายฟิล์มสอนให้เข้าใจชีวิตว่าบางอย่างมันผิดพลาดแล้วไม่สามารถย้อนกลับมาได้ แต่ต้องไม่ทำพลาดอีกเป็นครั้งที่สอง”
“ตอนเปิดสตูดิโอนี้ก็มีคนมาสนใจมากนะ แม้เราไม่ได้โปรโมทอย่างจริงจัง แต่ก็มีคนรู้จักมาใช้บริการอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็แนะนำกันปากต่อปากจากรุ่นพี่ในวงการ บางครั้งก็มีลูกค้ามาหาเราถึงที่นี่เลย ซึ่งเราก็ชอบนะที่ได้เพื่อนใหม่ แต่อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้คิดจะเปิดล้างฟิล์มเป็นเชิงธุรกิจอย่างจริงจัง เลยไม่ได้รับล้างฟิล์มให้กับทุกคนที่เข้ามา แต่ก็รู้สึกดีใจที่ช่วยผลักดันวงการ”
“การถ่ายฟิล์มสอนให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น และต้องรู้จักปล่อยวาง เพราะต่อให้เราตั้งใจมากเพียงใดก็มีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ เราต้องมีสมาธิและเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา”
ในฐานะที่เป็นช่างภาพคนหนึ่งที่เคยจัดงาน exhibition มาแล้วครั้งหนึ่ง อยากให้ลองเล่าเหตุการณ์หรือความรู้สึกตอนนั้นให้พวกเราฟังหน่อย
“ 1 year roll เป็นชื่องาน exhibition ของผมตอนนั้น ที่เกิดขึ้นจากการที่ผมถ่ายรูปฟิล์มครบ 1 ปี เลยอยากรวบรวมภาพที่ถ่ายไว้แล้วคัดมา 36 รูปเท่ากับจำนวนภาพในฟิล์ม 1 ม้วน มาจัดแสดง ตอนที่เราทำนั้นรู้สึกดีนะ เพราะเหมือนเป็นการได้ส่งมอบแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น เหมือนกับที่เราได้รับเวลาไปดูงานของช่างภาพคนอื่น”
“ผมมองว่าการจัด exhibition จุดประสงค์หลักไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่ว่าเรากล้าที่จะทำหรือเปล่า กล้าที่จะส่งมอบแรงบันดาลใจให้คนอื่นไหม แม้ว่าจะผ่านมา 4 ปีแล้ว แต่เราก็อยากที่จะทำมันอีกครั้ง แม้ตอนนี้ไม่ได้ออกถ่ายภาพจริงจังมาสักพักแล้ว อาจเพราะเราสร้างข้อกำหนดกับตัวเองมากเกินไป ว่าต้องออกไปเที่ยวหรือดูคอนเสิร์ตเท่านั้นถึงจะพกกล้องไป แต่ถ้ามีโอกาสจะกลับมาทำอีกครั้งอย่างแน่นอน”
แม้ชื่อเสียงของเขาอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในฐานะช่างภาพในเมืองไทย แต่ครั้งหนึ่งเฟรย์เคยส่งภาพเข้าประกวดงาน Miami Street Photography Festival ในปี 2015 และได้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ซึ่งภาพถ่ายของเขาได้ถูกนำไปจัดแสดงที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
แม้ทุกวันนี้เฟรย์อาจจะไม่ได้ถ่ายภาพมากเท่าเดิม เพราะอาจจะตั้งข้อจำกัดให้ตัวเองในการถ่ายภาพมากเกินไป หรือหันมาทุ่มเทให้กับสตูดิโอแห่งนี้ แต่เชื่อว่าความเป็นช่างภาพคงไม่มีวันหายจากเขาไปอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้เขายังคงล้างฟิล์มและเป็นผู้ช่วยช่างภาพให้กับงานต่างๆ อีกมากมาย และคงยังมีความสุขดีกับการที่ได้เห็นงานที่เขามีส่วนร่วมลุล่วงไปด้วยดี แม้การหลบมาทำงานหลังฉากจะทำให้คนทั่วไปรู้จักเขาเท่าที่ควร แต่การที่มีคนให้การยอมรับคงไม่มีความหมายอะไร หากเขาไม่ได้มีเวลาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ “เฟรย์ ณทพน” ช่างภาพผู้หลงใหลในกล้องฟิล์ม ซึ่งเขาได้ทุ่มเทชีวิตให้กับสิ่งที่เขารักอย่างจริงจัง และมีความสุขทุกวันกับงานที่เขารัก สำหรับครั้งหน้า #SneakaProfessional จะนำเสนอเรื่องราวของใครต้องคอยติดตามกันให้ดี เพราะเราจะคัดสรรค์เรื่องราวของบุคคลที่น่าสนใจมานำเสนอคุณอย่างแน่นอน