หากเอ่ยชื่อ “Brian Donnelly” ขึ้นมา เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้จัก แต่ถ้าเป็น “KAWS” นามแฝงของเขาแล้วล่ะก็ หลายๆ คนที่ชอบ street art และ street fashion คงร้องอ๋อ เพราะเขาคือศิลปินผู้เติบโตมาจากการพ่น graffiti ตามกำแพงและป้ายโฆษณาไปทั่วนิวยอร์ค แต่หันมาเอาดีด้านออกแบบสินค้า จิตรกรรม และประติมากรรม ด้วยภาพสไตล์การ์ตูนที่มีเอกลักษณ์ จนมีโอกาสได้สร้างสรรค์ผลงานร่วมกับศิลปินและแบรนด์ดังๆ มากมาย รวมถึงได้แสดงผลงานในนิทรรศการศิลปะตามพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลกอีกด้วย ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนที่ติดตามผลงานของ KAWS มานาน หรือไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน เราก็อยากให้คุณได้รู้จักเขาอย่างลึกซึ้งผ่านบทความนี้ รับรองว่าสนุกและได้สาระไม่แพ้กัน
BEFORE KAWS
เด็กชาย Brian Donnelly ลืมตาดูโลกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1974 ในครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายไอริชที่อาศัยอยู่ในเมือง Jersey City รัฐ New Jersey ของอเมริกา โดยพ่อของเขามีอาชีพเป็นโบรคเกอร์ตลาดหุ้น ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน ในวัยเด็ก Brian เรียนหนังสือไม่เก่งเอาเสียเลย สิ่งที่เขาชอบมีแค่การวาดการ์ตูนลงในสมุดและหนังสือเรียนเป็นงานอดิเรกจนครูประจำชั้นสมัยเกรด 5 เคยคุยกับแม่ของเขาว่าบางทีเขาอาจจะเหมาะกับการเรียนด้านศิลปะมากกว่าก็ได้ แต่ Brian ในวัยประถมนั้นยังไม่เคยคิดที่จะยึดศิลปะเป็นอาชีพเลย
พอโตขึ้นมาเรียนมัธยม นอกจากการวาดรูปเล่นแล้ว ในยามว่างเขายังชอบออกไปเล่นสเกตบอร์ด และพ่น graffiti กับเพื่อนๆ แถวบ้านด้วย และนั่นก็ทำให้เขาเริ่มหลงใหลมันมากขึ้น แม้ว่ามันจะเป็นกิจกรรมยามว่างที่ขัดใจพ่อแม่อยู่ไม่น้อย เมื่อเขาเรียนจบ ม.ปลาย และเอ่ยปากกับทั้งสองว่าจะเรียนต่อด้านศิลปะ พ่อของเขาก็ตกใจ และมีทีท่าไม่เห็นด้วยนัก นอกจากนั้นยังพยายามโน้มน้าวให้เขาไปเรียนที่ Borough of Manhattan Community College ในรัฐที่อยู่ติดกันอย่างนิวยอร์ค ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยสายอาชีพที่ไม่มีการเน้นสอนวิชาศิลปะ และค่าเทอมไม่แพงนัก แน่นอนว่า Brian ไม่อยากไปเรียนสายนี้ เขาจึงต่อต้านด้วยการหันไปพ่นกำแพงกับเพื่อนๆ อย่างจริงจังแทบทุกวันอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปเรียนศิลปะที่ School of Visual Arts ในนิวยอร์คในที่สุด ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ย้ายไปที่นิวยอร์คและอยู่ยาวจนถึงทุกวันนี้
BECOMING KAWS
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย Brian ได้เลือกเรียนสาย illustration ซึ่งทำให้เขาได้ฝึกพื้นฐานการวาดรูปสไตล์ classic ทั้งภาพทิวทัศน์ กายภาพต่างๆ แต่ในเวลาว่าง เขากลับหมกมุ่นกับการวาดการ์ตูนและพ่น graffiti จนวันหนึ่ง Brian ก็คิด tag ประจำตัวขึ้นมาใช้ว่า “KAWS” โดยที่คำคำนี้ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ที่มาของมันก็เป็นเพียงแค่การประสมกันของตัวอักษรที่เขาชอบคือ K-A-W-S และคิดว่ามันดูดีเวลาวางอยู่ด้วยกันเท่านั้นเอง เขาจึงเลือกใช้ชื่อนี้ในการสร้างผลงานมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
พอเรียนจบในปี 1996 เขาก็ไปทำงานเป็น freelance animator อยู่ที่ Jumbo Pictures บริษัททำอนิเมชันเล็กๆ แห่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าได้เงินดี แม้จะไม่ใช่งานที่เขาชื่นชอบนัก เพราะหน้าที่หลักๆ ที่เขาได้รับก็คือการวาด background ในการ์ตูนอนิเมชันด้วยสีอะครีลิค หลังจากนั้นไม่นาน Disney ก็มาซื้อกิจการของ Jumbo Pictures ไป เขาจึงได้มีส่วนร่วมในซีรีส์การ์ตูนทีวีอยู่ 3 เรื่อง คือ 101 Dalmatians, Daria, และ Doug และจากประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เขาได้นำเทคนิคการวาดภาพด้วยสีอะครีลิคมาใช้บ่อยๆ ในผลงานส่วนตัวหลายๆ ชิ้นในเวลาต่อมา
ในปี 1996 นี้เองที่ Barry McGee หรือ “Twist” เพื่อนที่ร่วมพ่น graffiti ด้วยกันนำกุญแจผีมาให้เขาเพื่อเอาไปไขเฟรมใส่แผ่นโปสเตอร์โฆษณาตามป้ายรถบัส และตู้โทรศัพท์ต่างๆ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างผลงานในแบบที่ไม่มีใครเหมือนของ KAWS ขั้นตอนก็คือ เขาจะไปขโมยแผ่นโฆษณาที่เขาชอบ และคิดว่าน่าจะเหมาะกับสไตล์ภาพที่เขาทำกลับไปที่บ้าน โดยเฉพาะของแบรนด์เสื้อผ้าที่มีนายแบบและนางแบบมาโพสท่าต่างๆ จากนั้นลงมือเพนท์ทับด้วยสีอะครีลิคที่เขาถนัดเป็นรูปตัวคาแร็คเตอร์ประจำตัวที่มีหัวเป็นรูปกระโหลก และมีกระดูกไขว้ ใช้กากบาทแทนดวงตาทั้งสองข้าง ชื่อว่า “Skully” และอีกตัวที่ใช้หัวแบบเดียวกัน แต่ไม่มีแขนขา ลำตัวยาว รูปร่างดูคล้ายสเปิร์ม ชื่อ “Bendy” โดยจัดวางองค์ประกอบของภาพวาดให้เล่นกับพื้นที่และท่าทางของนางแบบในโฆษณา แล้วนำกลับไปติดไว้ที่เดิมแบบเนียนๆ ซึ่งทั้งตอนเอาออกและใส่กลับเข้าไปนั้นทำในเวลากลางวันแสกๆ และทำทีว่าเป็นทีมงานมาเปลี่ยนแผ่นโปสเตอร์ ทำให้ไม่ค่อยมีใครสงสัยหรือโดนจับกุม
ต่อมาเขาก็เริ่มคิดค้นคาแร็คเตอร์ขึ้นมาเพิ่มเติม นั่นก็คือ “Chum” ที่ถอดรูปร่างมาจากแมสคอต Bibendum หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “Michelin Man” ของแบรนด์ Michelin ที่คนทั่วโลกคุ้นตา เปลี่ยนแค่ส่วนหัวให้เป็นหัวกระโหลกกับกระดูกไขว้ ตามด้วยอีกหนึ่งคาแร็คเตอร์ที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง “Companion” โดยเปลี่ยนหัวเป็นแบบเดียวกันกับ Chum แต่ส่วนที่เหลืออย่างลำตัว แขน ขา ก็ดึงมาจากคาแร็คเตอร์ขวัญใจเด็กๆ อย่าง Mickey Mouse โดยเติมกากบาทที่ถุงมือ และเปลี่ยนสีให้เป็นโทนสีเทาทั้งตัวแทน ซึ่ง Companion ก็กลายมาเป็นคาแร็คเตอร์หลักที่เขาใช้ในผลงานแต่ละชิ้นจนถึงปัจจุบัน
KAWS IN JAPAN
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของ KAWS เริ่มต้นจากตอนปี 1997 ที่เขาได้เดินทางไปยังเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้ทำความรู้จักกับ street artist รวมถึงเจ้าของแบรนด์ streetwear มากมายที่นั่น เช่น Nigo แห่ง A Bathing Ape, Jun Takanishi แห่ง UNDERCOVER, Shinzuke Takizawa แห่ง NEIGHBORHOOD, และ Hikaru Iwanaga แห่ง Bounty Hunter เป็นต้น โดยที่รายหลังสุดได้ชักชวนให้เขามาลองทำฟิกเกอร์(หุ่นจำลองรูปร่างคล้ายคน บางรุ่นสามารถขยับแขน ขา หรือถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้) ทำจากไวนิล และวางจำหน่ายแบบ limited edition ร่วมกันสักรุ่นหนึ่ง เพราะฟิกเกอร์ถือเป็นสินค้าที่ Bounty Hunter ทำมาตั้งแต่แรกก่อตั้งแบรนด์ก่อนที่จะขยับขยายมาทำเสื้อผ้า และคนญี่ปุ่นก็นิยมการสะสมฟิกเกอร์มาก ซึ่งนั่นก็ทำให้ฟิกเกอร์ “KAWS x Bounty Hunter Companion” ออกวางขายในปี 1999 และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม อีกทั้งในปีเดียวกันนี้เขายังมีโอกาสได้ไปแสดงผลงานในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของตัวเองที่ Colette ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย
ด้วยภาพคาแร็คเตอร์ที่โดดเด่น ทั้งยังมีลูกเล่นน่าสนใจเสมอ วันหนึ่ง David Sims ช่างภาพฝีมือดีที่เคยถ่ายภาพโฆษณาให้กับ Calvin Kleine ซึ่งผลงานของเขาส่วนหนึ่งโดน KAWS วาดทับนั้นเกิดความประทับใจในฝีมือและได้ติดต่อ KAWS โดยตรงเพื่อให้มาวาดทับภาพถ่ายชุดใหม่ของเขาอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2000-2001 นั่นจึงทำให้ชื่อของ KAWS เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
รวมทั้ง Medicom Toy บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นได้ชักชวนให้เขามาออกแบบฟิกเกอร์ให้ เมื่อฟิกเกอร์ Accomplice วางจำหน่ายในปี 2002 ตามด้วย “Medicom x Kaws Kubrick Bus Stop” กับ “Medicom x Kaws Be@rbrick Companion” ที่วางจำหน่ายในปี 2002 และ “Medicom x Kaws Be@rbrick Chomper” ในปี 2003 ตามลำดับ ผลตอบรับก็ออกมาดีตามเคย รวมถึงตอนที่ร่วมงานครั้งแรกกับ A Bathing Ape ในปี 2005 ด้วยการนำเสื้อผ้าและรองเท้า Bapesta รุ่นพิเศษออกมาวางจำหน่ายก็ขายดีเช่นกัน
KAWS THE BUSINESSMAN
จากความสำเร็จอันล้นหลามนี้ทำให้ KAWS ก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจด้วยการเปิดแบรนด์ของตัวเองชื่อว่า “OriginalFake” เพื่อออกแบบเสื้อผ้าแนว streetwear ของเล่น และของใช้ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในปี 2006 และมีหน้าร้านอยู่ในย่านอาโอยามะ กรุงโตเกียว โดยร่วมทุนกับ NEXUSVII แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติญี่ปุ่นและ Medicom Toy ก่อนที่จะมีวางจำหน่ายตามร้าน streetwear ดังๆ ทั่วโลก
หลังจากนั้น KAWS ทั้งในนามศิลปินเดี่ยว และในนามแบรนด์ OriginalFake ก็ได้ทยอยผลิตเสื้อผ้า accessories รวมถึงฟิกเกอร์ออกมาเรื่อยๆ ทั้งที่ทำขึ้นมาเอง และที่ร่วมงานกับแบรนด์อื่น โดย KAWS ยังคงออกแบบโดยรักษาคอนเซ็ปต์เดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น คือ นำคาแร็คเตอร์ของแบรนด์ที่มาร่วมงาน หรือคาแร็คเตอร์ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีอยู่แล้วอย่าง Pinocchio, Snoopy, Smurfs, Tweety และอื่นๆ มาปรับเปลี่ยน ผสมผสานให้เข้ากับดีไซน์ประจำตัว เช่น ซี่ฟัน กากบาท หัวกระโหลก และกระดูกไขว้ เป็นต้น
การนำคาแร็คเตอร์ที่เป็นที่รู้จักและชื่นชอบอยู่แล้วใน pop culture ทำให้งานของ KAWS มีความเป็นสากล สามารถเชื่อมโยงกับทุกคนได้ง่าย เมื่อนำมาดัดแปลงด้วยหัวกระโหลกกับกระดูกไขว้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่สื่อในเชิงล้อเลียนด้วยลายเส้นการ์ตูน และโทนสีที่ค่อนข้างนุ่มนวล สดใส ยิ่งทำให้ผลงานของ KAWS มีสเน่ห์เฉพาะตัว จดจำได้ง่าย ดูแวบเดียวก็รู้ว่าฝีมือใคร และโดนใจใครหลายคน คงไม่เกินความจริงนักหากจะบอกว่า ลำพังคาแร็กเตอร์เหล่านี้ของเขาก็เพียงพอที่จะโปรโมทตัวมันเองได้โดยไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนโฆษณาอะไรมากมาย (เว้นแต่แรงสนับสนุนจาก Nigo และ Pharrell Williams เพื่อนซี้ที่ช่วยโปรโมทและอุดหนุนผลงานของเขามาตั้งแต่ช่วงแรกๆ)
KAWS x THE OTHERS
โปรเจ็ค collaboration ของ KAWS และ OriginalFake นั้นมีมากมาย ไล่มาตั้งแต่ผลงานร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้าในญี่ปุ่นด้วยกันอย่าง A Bathing Ape อีกหลายต่อหลายคอลเล็คชัน ตามด้วย NEIGHBORHOOD, UNDERCOVER, Santastic!, visvim และ Comme des Garçons ที่ร่วมกันทำสินค้าด้วยกันมากมายทั้งเสื้อ กระเป๋า รองเท้า ไปจนถึงฟิกเกอร์ ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา, ต่อด้วยหมวกกับ New Era ในปี 2010-2011, และเสื้อยืดกับ Fragment Design ในปี 2012 เป็นต้น
กับแบรนด์เสื้อผ้าต่างประเทศก็มีผลงานร่วมกันไม่น้อย อาทิเช่น CLOT แบรนด์ดังจากฮ่องกงที่เริ่มทำเสื้อยืดด้วยกันในปี 2007 ซึ่งในปีเดียวกันยังมีคอลเล็คชันยีนส์สวยๆ กับ Levi’s และรองเท้า KAWS x VANS “The Simpsons” Chukka กับ VANS ที่ดีไซน์โดดเด่นกว่าใครด้วยภาพวาด The Kimpsons (ชื่อล้อ The Simpsons ของ KAWS) บนลายกระดาษสมุดโน้ต
ต่อมาในปี 2008 ก็ทำรองเท้าส้นเตี้ยของผู้หญิงกับ Marc Jacobs และรองเท้า Air Force 1 กับ Air Max 90 Current “Black Volt” และ Air Max 90 “White Volt” ที่มาพร้อมกับเสื้อผ้าเข้าชุดกันในคอลเล็คชัน 1World ของ Nike ซึ่งมีจุดเด่นแสนคลาสสิคตรงลายกากบาทเช่นเคย
ในวงการเพลง KAWS ก็ไม่น้อยหน้า เขามีโอกาสไปออกแบบลายบนปิ๊กกีตาร์และบัตรคอนเสิร์ตแบบ VIP ให้ John Mayer รวมถึงออกแบบ artwork ปกอัลบั้ม “808s & Heartbreak” ให้กับแร็ปเปอร์ชื่อดังอย่าง Kanye West ในปี 2008 และปกอัลบั้ม “Til The Casket Drop” ของ Clipse ในปี 2009 อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมงานกับดีไซเนอร์ชั้นนำอย่างเช่น Pushead และ REAS ในปี 2006 และกับ Robert Lazzarini ในปี 2011 ทำฟิกเกอร์รุ่นพิเศษออกมา หรือแม้แต่ได้ออกแบบขวดเหล้าของ Hennessy V.S รุ่น Limited Edition ปี 2011 ให้แฟนๆ ได้ตามล่า ตามเก็บสะสมกันอีก เรียกได้ว่างานล้นมือจริงๆ
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ OriginalFake ได้โลดแล่นในวงการแฟชั่นเป็นเวลาเพียง 7 ปี ก่อนที่ KAWS จะตัดสินใจปิดกิจการไปในปี 2013 โดยอ้างว่าต้องการโฟกัสกับงานศิลปะของตัวเองให้มากขึ้น แต่มีหลายคนให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกระแสตอบรับในระยะหลังๆ ของ OriginalFake เองที่ลดลงด้วยเช่นกัน เพราะการที่แบรนด์นี้มาจากมันสมองของ KAWS เพียงคนเดียวเลยทำให้ดีไซน์ดูไม่หลากหลายเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับแบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ หรืออาจจะเป็นเพราะเหตุผลอื่นก็คงไม่มีใครล่วงรู้ได้
KAWS IN EXHIBITION
นอกเหนือจากผลงานออกแบบสินค้ามากมายแล้ว KAWS ก็ได้สร้างผลงานศิลปะในเชิง fine art ออกมาไม่น้อยเช่นกัน มีทั้งภาพเพนท์ด้วยสีอะครีลิคที่ลงสีอย่างประณีตจนบางครั้งดูเหมือนภาพพิมพ์ และประติมากรรมที่มีหลายขนาดตั้งแต่สูงไล่เลี่ยกับคน จนถึงสูงเท่าตึก 3 ชั้น ทั้งยังทำจากวัสดุหลากหลายชนิด ซึ่งผลงานเหล่านี้ได้นำไปจัดแสดงในนิทรรศการทั้งเดี่ยวและกลุ่มในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ถ้วยรางวัลและเวทีงาน Video Music Awards ของ MTV รวมไปถึงตามสถานที่สาธารณะที่สำคัญต่างๆ ในเมืองใหญ่ๆ ของโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ค ปารีส ลอนดอน โตเกียว และฮ่องกง บ่งบอกว่าผลงานของเขานอกจากได้รับการยอมรับในแวดวงของผู้ที่ชอบ street culture แล้ว ยังครอบคลุมสาขาศิลปะเอาไว้หลายสาขา และยังทำให้คนทั่วไปได้รับรู้อีกด้วย ตรงกับความตั้งใจของเขาที่อยากให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสได้ชมผลงานที่สร้างขึ้นแม้ในชีวิตประจำวัน
ด้วยชื่อเสียงของ KAWS ที่กลายเป็นศิลปินระดับโลก ทำให้ผลงานศิลปะ และสินค้าที่เขาเคยออกแบบไว้กลายเป็นของหายากและราคาแพงสุดๆ แม้กระทั่งฟิกเกอร์ Companion หลายๆ รุ่นนั้นก็มีราคาซื้อขายกันใน ebay ในหลักแสน โปสเตอร์โฆษณา Calvin Kleine ที่เขาเคยวาดทับราวๆ ปี 1999 ก็มีการประเมินว่าน่าจะมีราคากว่า $100,000 หรือประมาณ 3 ล้านกว่าบาท จนมีคนพยายามขโมยจากออฟฟิศของ Complex แต่โดนตำรวจตามจับได้เสียก่อน และฟิกเกอร์ OriginalFake Companion รุ่นพิเศษ หนึ่งในคลังสมบัติของ Nigo ที่นำไปประมูลใน Sotheby ที่ฮ่องกง ยังขายได้ $128,940 หรือประมาณ 4 ล้านกว่าบาทมาแล้ว
KAWS NOWADAYS
KAWS ในวันนี้ไม่ใช่ street artist อย่างที่เขาเติบโตมาในช่วงแรกๆ อีกต่อไปแล้ว แถมยังยากที่จะบอกว่าผลงานของเขาอยู่ในหมวดหมู่ใดกันแน่ เช่นเดียวกับที่เขาไม่เคยจำกัดแนวทางงานศิลปะที่ตนสร้างขึ้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผลงานของเขาก็เต็มไปด้วยความน่าดึงดูดและน่าจดจำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ศิลปินคนหนึ่งจะสามารถผสมผสาน เชื่อมโยงระหว่างโลกของศิลปะกับการค้าเอาไว้ได้อย่างสมดุลและไร้รอยต่อ ประสบความสำเร็จทั้งด้านชื่อเสียง รายได้ ได้รับความชื่นชมจากผู้คนในหลากหลายวงการ มีแฟนๆ ติดตามผลงานอยู่ทั่วโลก และยังคงสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ มาติดตามกันว่าจากนี้ไปเราจะได้เห็นผลงานอะไรจากฝีมือของชายคนนี้ แล้วเจ้า Companion จะไปป่วนอยู่ที่ไหนอีก
text by Pakazite
reference:
wiki / sandragering / latimes / vibe / soldart / complex / widewalls