นอกจากการทำหน้าที่อาชีพช่างภาพอิสระที่เน้นรับงาน wedding เป็นหลักแล้ว ทิน ธัชช์ภสิฐ คุณาพร ยังรักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะการได้ไปชมทิวทัศน์อันงดงามของธรรมชาติ เขาเดินทางถ่ายภาพแนว landscape มาแล้วหลายที่ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือต่างประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เนปาล อินเดีย นิวซีแลนด์ และล่าสุดคือที่ประเทศแคนาดา ทั้งยังไม่หยุดแสวงหาแก่นแท้ของชีวิตจากการเดินทางที่ได้พบปะผู้คนและสถานที่หลากหลายเหล่านั้น แน่นอนว่าฝีมือการถ่ายภาพของเขาไม่ธรรมดา การันตีจากผลงานภาพถ่ายงานแต่งงานของดาราสาว เจนสุดา ปานโต ที่ทำให้ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น บทสัมภาษณ์นี้จะพาคุณมาทำความรู้จักกับตัวตนของเขาและพบกับดินแดนใหม่ๆ ของการถ่ายภาพที่คุณอาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน
เริ่มถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อไหร่
ผมไม่เคยมีความคิดอยากถ่ายภาพมาก่อนเลยจนกระทั่งตอนเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ ม.เกษตรศาสตร์ ปี 2 ตอนนั้นผมยังเป็นนักกีฬายิงธนูอยู่ โดยเริ่มจากกล้องฟิล์มของรุ่นพี่ที่เขาให้ช่วยถ่ายภาพให้ ผมก็รู้สึกว่ากล้องมันเจ๋งดี หมุนเลนส์ให้ชัดได้ ให้เบลอได้ แล้วผมโชคดีที่เกิดมาในยุคคาบเกี่ยวระหว่างกล้องฟิล์มกับดิจิทัล ยังมีแนวคิดระหว่างสองสิ่งนี้อยู่ พี่เขาจะย้ำตลอดเวลาว่า “ต้องคิดก่อนถ่าย ไม่ใช่กดๆ ไปเลย” ซึ่งมันก็ยังคงฝังหัวผมถึงทุกวันนี้ แต่พอความคิดนี้ฝังหัวมาเรื่อยๆ ก็ทำให้สัญชาตญาณมันหายไปเหมือนกัน บางทีเราไม่ต้องใช้ความคิด ใช้กรอบมาครอบเรามากขนาดนั้นก็ได้ ใช้แค่ความรู้สึกแทน
หลังจากนั้นก็ลองหัดถ่ายด้วยกล้อง Olympus ที่เป็น auto ของพ่อ กับ Canon Canonet QL 19 ถ่ายจนชัตเตอร์พัง พอมาสักพักหนึ่งก็เริ่มสนใจการถ่ายภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนตัดสินใจลาออก ย้ายคณะเลย ไปเรียนนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา ม.กรุงเทพ ตอนนั้นคิดว่าเรียนด้านนี้ถ้าจบมาแล้วถ้าไม่ทำงานถ่ายรูปก็น่าจะพอมีงานสายโฆษณาทำอยู่ แต่ความจริงคือพอจบออกมาไม่มีงานทำ มีแต่งานสายโปรดัคชัน ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับการถ่ายภาพเลย แล้วงานก็น้อยกว่าถ่ายภาพเยอะ แต่โชคดีที่สมัยเรียนผมเลือกวิชาโทภาพยนตร์ มีวิชาหนึ่งที่เขาสอนเกี่ยวกับทฤษฎีสี ซึ่งมันน่าสนใจและสนุกมาก ได้รู้ว่าสีไหนให้อารมณ์แบบไหน จับคู่สีอย่างไร มันสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ ทีนี้พอไม่มีงานทำ ผมก็ลองไปเรียนภาษาที่ออสเตรเลียดู ที่นั่นมีเพื่อนๆ พี่ๆ อยู่ เขาก็พาไปถ่ายภาพ wedding ก็รู้สึกว่าสนุกดี มันเหมือนกับการสแกนดูชีวิตคู่รักคู่หนึ่งอยู่ก่อนที่เขาจะเข้าสู่การแต่งงาน บางทีมุมที่เราเห็นมุมหนึ่งในงานแต่งงานมันอาจจะเป็นทั้งชีวิตของเขาเลยก็ได้ บางคู่อาจจะคุยแบบขึ้นมึงขึ้นกูกัน อยู่กันแบบเพื่อน ความรู้สึกนั้นมันเลยออกมาในภาพด้วย พอสนุกกับงานนี้ก็เลยลองถ่ายกับพี่เขาไปเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ก็แยกกันทำงานของแต่ละคนเองเรียบร้อย
ศึกษาเทคนิคการถ่ายภาพจากไหน
หมกมุ่นกับมันก่อน เอาจริงๆ ก็ไม่ได้อ่านคู่มืออะไรนะ(หัวเราะ) แค่ใช้ ทดลอง ถ่าย แล้วดู แต่สุดท้ายพอรู้มากขึ้นๆ เราก็เริ่มไม่มีความสุขกับมันแล้ว เพราะจะคิดมากเกินไป เลยต้องพยายามกลับมาที่เบสิค ดูว่ากล้องสมัยก่อนมันมีฟังก์ชันอะไรบ้าง แล้วก็รู้แค่นั้นพอ สัญชาตญาณเก่าๆ ก็เลยกลับมา ก็เลยเริ่มไม่แคร์ ISO ไม่แคร์ว่าภาพชัด ภาพเบลอ grain เยอะ มันอาจจะเป็น decisive moment อย่างที่ Henri Cartier Bresson บอกไว้ ซึ่งผมขอแค่ชอบก็พอ ผมแค่มองหา composition ทำตามสัญชาตญาณ ซึ่งมันก็ได้มาจากการออกไปถ่ายภาพเยอะมากๆ ภาพเมื่อก่อนกับตอนนี้ของผมมันเลยต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างเมื่อก่อนยังมีความเนี้ยบอยู่ระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว หลักคิดพวกนี้ได้มาจากตอนที่ผมบวชอยู่ปีครึ่ง หลวงพ่อสอนไว้ว่าเวลานั่งสมาธิอย่าไปตั้งใจนั่ง ให้นั่งเพราะนั่ง ถ้าตั้งใจมากเกินไปจะไม่ได้อะไรเลย ยิ่งวิ่งจับ ยิ่งคว้าไม่ได้ ให้นั่งไปอย่างนั้นและมีสติ สุดท้ายพอลองดู มันก็ได้อะไรกลับมาจริงๆ ผมก็เลยเอามาใช้กับการถ่ายภาพว่าแค่ถ่าย หาจังหวะไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวมันจะมาเอง แต่มันต่างกันกับตรงนั่งสมาธิคือ มันต้องมีการวางแผน มีการรอจังหวะบ้างนิดนึง
นอกจากนั้นก็ศึกษาเพิ่มเติมจากการดูหนัง อ่านหนังสือ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพก็ได้ บางทีอาจจะเป็นนิยาย จินตนาการว่าถ้าฟีลแบบนี้ ภาพจะเป็นยังไง คล้ายๆ เป็นผู้กำกับไปในตัว และจินตนาการจากเพลงที่ฟังด้วยครับ เพราะเป็นคนชอบฟังเพลงเวลาไปเที่ยว
เวลาออกไปถ่ายภาพแต่ละครั้งมีการวางแผนอย่างไร
อย่างงาน wedding ผมจะไปสังเกตและแก้สถานการณ์เอาหน้างานเลย บางทีแสงหน้า backdrop มันแย่มาก ก็ต้องแก้ปัญหาอีกที แต่อย่าง pre-wedding จะมีการเตรียมตัวไว้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ไป improvise เอาหน้างานเหมือนกัน
ผลงานของตัวเองที่ภูมิใจที่สุด
เป็นงาน landscape ที่รวบรวมไว้ มีอยู่ชุดหนึ่งชื่อ “LAND/MINE” เพิ่งแสดงในนิทรรรศการเดี่ยวไปที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ปีที่ผ่านมา ชุดนั้นน่าจะเป็นชุดที่ผมเห็นตัวเองชัดที่สุด เริ่มมองเห็นชัดเจนแล้วว่ากำลังไปทางไหน ผมเองในช่วงแรกๆ ก็โตมากับการถ่าย landscape พอมาถ่าย wedding ก็ได้อิทธิพลจากตรงนั้นมาด้วย เดี๋ยวนี้การถ่ายภาพของผมทุกอย่างคือการเอาอะไรหลายๆ อย่างที่ผมเคยลองมารวมกัน ทั้ง documentary, landscape, street photography ทำไปเองโดยไม่รู้ตัว เวลาเอาภาพถ่ายงาน wedding หลายๆ งานที่ทำไปมารวมกัน จะสังเกตเห็นว่ามันมีจุดร่วมอยู่ แล้วผมก็ทำอย่างนั้นมาเรื่อยๆ
คิดว่าสไตล์การถ่ายภาพของตัวเองคืออะไร
เป็นเรื่องแปลกที่ผมเองมองไม่เห็น ยิ่งหายิ่งไม่เจอ แต่คนอื่นมองเห็น อย่างในภาพถ่าย wedding เขาบอกว่ามันมีความเป็นสตรีทอยู่นะ มันมีเราอยู่นะ และมันมีอารมณ์อะไรบางอย่างอยู่นะ จริงๆ แล้ว composition ของภาพถ่ายผมมันไม่สวย แต่ว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้นแล้วมันดูได้นาน ส่วนภาพ landscape มันเหมือนคนนั่งสมาธิ พอเริ่มอิ่มตัวก็จะยิ่งลงลึกขึ้นๆ ยิ่งถ่ายไปเรื่อยๆ ยิ่งตัดส่วนเกินโน่นนี่ออกไป จนเหลือแค่แก่นจริงๆ แล้วมันก็แสดงออกมาในภาพ
อุปกรณ์ที่ใช้
เป็นกล้องรุ่นเก่าเลย Nikon D700 กี่ปีแล้วก็ไม่รู้ ผมพบว่าถ้าเราใช้อุปกรณ์อย่างเต็มประสิทธิภาพมันก็ยังรับได้ ตอนนี้เลยมองว่ามันยังเพียงพออยู่ ก็เลยใช้แค่ตัวเดียว เลนส์ก็เป็นรุ่นกลางๆ มีอยู่ 2 ช่วงคือ 28mm f1.8 กับ 50mm จริงๆ มีอีกตัวคือ 180mm แต่ใช้น้อยมาก บางงานก็ใช้เลนส์แค่ตัวเดียวเลยคือ 28mm เพราะมันเป็นระยะที่ก้ำกึ่งระหว่าง 24mm กับ 35mm เวลาเข้าไปใกล้ๆ มันก็เหมือน 35mm พอถอยออกมาก็เหมือน 24mm แล้วผมก็ใช้มานานจนเหมือนเป็นตาของผมแล้ว บางงานอาจจะใช้แฟลชบ้างในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เพราะสำหรับผมแล้วแสงธรรมชาติมันดีกับตอนนั้นที่สุดครับ อย่างน้อยเจ้าบ่าว-เจ้าสาวเขาก็ยังรู้ว่าตอนนั้นมันเป็นยังไง ตอนนี้ยังไม่มีแผนจะอัพเกรดอะไรครับ แต่ถ้าตอนไปเที่ยวอาจจะพกกล้องคอมแพ็คอย่าง Panasonic Lumix GF1 ไป เพราะกลัวว่ากล้องหลักจะใช้ไม่ได้ในสภาพอากาศที่เลวร้ายครับ แถมมันยังแบตอึดมากด้วย
ขั้นตอนการแต่งภาพ
ถ้าเป็นภาพขาวดำผมก็มีวิธีการเฉพาะตัวอยู่ครับ แต่ถ้าเป็นภาพสีนี่แทบจะไม่มีการปรับอะไรเลย เพราะใช้ vsco (ฮา) ผมให้ความสำคัญกับการเลือกภาพมากกว่าแต่งภาพ การแต่งภาพก็สำคัญ แต่สำหรับผมมันเป็นเรื่องรอง อย่างในเมืองไทย ผมมองว่าจริงๆ แล้วเรายังไม่มี photo editor หรือบรรณาธิการภาพ ส่วนใหญ่คนจะไปเหมารวมกับ graphic designer แต่จริงๆ แล้วในต่างประเทศมันมีสาขาวิชานี้ มีสาขาอาชีพนี้อยู่ คนที่คอยทำหน้าที่คัดเลือกภาพเป็นร้อยเป็นพันครั้งกว่าจะได้ส่วนที่เป็นแก่นเอามาทำหนังสือสักเล่ม หลักการเลือกก็คือ ใช้ความรู้สึกเป็นหลักว่า ผมยังรู้สึกเหมือนเดิมกับภาพนั้นไหม ถ้าเหมือนเดิมก็เลือกมา พอเลือกมาก็ต้องหา curator หรือใครก็ได้ที่ผมเชื่ออย่างสนิทใจว่าเขามีความรู้พอ และเขามองเห็นภาพของผมจริงๆ เอาไปปรึกษาเขา ซึ่งเขาก็จะบอกเสมอว่าไม่ต้องเชื่อคำพูดเขาหรอก แต่ฟัง แล้วเอาไปคิดดูว่าใช่หรือเปล่า ถ้าใช่ก็ทำ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องทำ และเขายังบอกว่าผมต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองให้มากที่สุด เขาเป็นแค่ไกด์นำทาง จะเชื่อไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ละงานที่ถ่ายมา ถ้าถ่ายไป 500 ภาพ ผมจะคัดเหลือประมาณ 250 ภาพเสมอโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยจะแบ่งเป็นภาพเจ้าบ่าว-เจ้าสาวครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นเหตุการณ์อื่นๆ ในงาน เช่น อาจจะเป็นเด็กๆ ที่เล่นกันอยู่ในงานนั้น หรือช็อตที่พ่อแม่ของเจ้าบ่าว-เจ้าสาวเขาอาจจะทำอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่ช่างภาพในงานแต่งงานจะรุมถ่ายที่เจ้าบ่าว-เจ้าสาว ซึ่งผมก็เข้าใจว่าเขาไม่อยากพลาดโมเมนท์นี้ แต่กลับกันเหตุการ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ มันก็สำคัญ เพราะมันช่วยเติมเต็มว่าวันนั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าเป็นงานคุณ รูปเกือบทั้งหมดเป็นรูปคุณหมดเลย คุณจะเบื่อไหม? ในงานแต่งงานผมไม่สามารถเป็นช่างภาพคนเดียวในงานได้ ยกเว้นว่าเจ้าบ่าว-เจ้าสาวเขาจะกล้าตัดภาพทั่วๆ ไปอย่างตอนตัดเค้ก ตอนถ่ายภาพรวมหน้า backdrop ได้จริงๆ แต่ผมจะไม่แนะนำเท่าไหร่ เพราะอยากให้เขามีช่างภาพหลัก แล้วผมเก็บรายละเอียดอื่นๆ แทนน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า จะได้มีภาพพิธีการเผื่อทางผู้ใหญ่เหมือนงานทั่วไปหน่อย อีกอย่างการเป็นช่างภาพหลักในงานมันกดดันมาก ซึ่งผมก็ทำได้ แต่มันจะเครียดเกินไป
หลังจากถ่าย wedding กับ pre-wedding มาเยอะ รู้สึกอย่างไรกับงานเหล่านี้
สำหรับงาน wedding ผมมองว่าตัวเองเป็นผู้สังเกตการณ์มากกว่า เหมือนเรากำลังจะทำหนังสือเล่มหนึ่ง ต้องมีอะไรในนั้นบ้าง ควรจะมี transition ระหว่างภาพไหม ต้องเก็บอะไรเพิ่มเติมไหม บางทีอาจจะถ่ายภาพบางภาพที่ดูไม่รู้เรื่องมาก็ได้ แต่พอรวมกันแล้วมันออกมาดูดี เป็น transition ระหว่าง 2 เหตุการณ์ และมันตัดเลี่ยนได้
บางครั้งมันก็น่าเบื่อ แต่พอถ่ายไปเจออะไรสวยๆ แล้วเหมือนจุดไฟติด จะอยากถ่ายอีกๆ ลื่นจนจบงาน แต่ถ้าเป็น pre-wedding ผมจะมองว่าตัวเองเป็นผู้กำกับหนัง เป็นนักสื่อสาร ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นช่างภาพ เพราะจะไม่ได้ถ่ายเฉพาะแค่เจ้าบ่าว-เจ้าสาว แต่อาจจะถ่ายวิวที่อยู่รอบๆ เขา หรืออาจจะถ่ายแค่เงาของเขาก็ได้
สนใจอยากถ่ายแนวอื่นบ้างไหม
สนใจครับ อยากถ่ายแฟชัน เพราะว่าเห็นงานของช่างภาพชาวอเมริกันชื่อ Alec Soth แล้วชอบ มีภาพหนึ่งของเขาที่ผมดูอยู่นานมาก เป็นภาพถ่ายคนผ่านกระจก เหมือนว่ากระจกมันกั้นอะไรบางอย่างระหว่างเขากับตัวแบบไว้ แล้วตัวแบบจะไม่สนใจเขาอีกเลย กลายเป็นธรรมชาติไป ทีเด็ดคือเขาใช้กล้อง large format ถ่ายด้วย อีกคนก็ช่างภาพชาวฝรั่งเศสที่เป็นไอดอลของหลายๆ คนชื่อ Jacques Henri Lartigue เขาถ่ายคนได้มี feeling แปลกดี ดูดาร์คๆ ภาพของเขามีสเน่ห์ตรงที่เขาจับทุกอย่างมารวมอยู่ในแฟชันได้ นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีแรงบันดาลใจจากช่างภาพอีกคนหนึ่งคือ คุณคมกฤช ทัศนพานนท์ คนนี้ผมขอยกให้เป็น Ansel Adams ของเมืองไทยเลย (Ansel Adams คือช่างภาพ landscape ชื่อดังชาวอเมริกัน) เพราะคุณคมกฤชเขาถ่ายได้หมดจดทั้งด้านอารมณ์และเป็นตัวของตัวเองมากๆ ดูแล้วก็รู้เลยว่าเป็นภาพของเขา คิดว่าคนไทยคงไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ แต่พอดีผมไปเจองานของเขาใน flickr แล้วก็ติดตามมาตลอด
ภาพถ่ายไหนที่ประทับใจที่สุด เพราะอะไร
ภาพ desktop โน้ตบุ๊คผมเอง เป็นภาพจากตอนไปเที่ยวที่เนปาล แถวหมู่บ้านโกรักเชป (Gorak Shep) ก่อนจะไปถึง base camp ผมเดินทางด้วยเท้าตลอด 8 วัน อากาศหนาว -10 ถึง -20 องศาเซลเซียสได้ เวลาประมาณสัก 5-6 โมงเย็น ซึ่งตอนที่ผมเดินมาถึงที่นี่เนี่ย ร่างกายเริ่มไม่ไหวแล้ว เหมือนจะตายจริงๆ เพราะลมหายใจมันเริ่มขาดช่วงเพราะว่าอากาศเหลือ ประมาณแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ หน้าก็เริ่มมืด ทุกอย่างมันหมุนเหมือนจะเป็นลม พอมองไปเห็นยอดเขานุปสต์เซ (Nuptse) ตรงนี้ปุ๊บ อาการทุกอย่างมันหายไปเลย เหมือนอะดรีนาลีนมันพลุ่งพล่าน ลมหายใจกลับมาเหมือนเดิม มีสมาธิขึ้น ผมก็นั่งจ้องอยู่นาน จนคิดว่าถึงเวลาแล้วก็เลยยกกล้องขึ้นมาถ่าย ภาพจริงมันเป็นสีฟ้า แต่ผมเอามาปรับเป็นขาวดำ ภาพนี้ดูกี่ทีๆ มันก็ยังทำให้ผมสงบได้ เครียดจากงานแค่ไหนก็กลับมานั่งดูภาพนี้ให้ใจสงบลงแล้วกลับไปทำงานใหม่ และก็ยังคิดถึงอยู่
ส่วนใหญ่ภาพ landscape ที่ผมได้ไปถ่ายจะไม่ใช่จุดท่องเที่ยว เพราะพอนานๆ ไปมันจะไม่มีค่าเลยสำหรับผม ซึ่งความคิดนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคนนะ แล้วผมก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปถ่ายภาพเป็นหลัก แค่อยากไปสัมผัสชีวิตของพวกเขา และอยากหาจุดเด่นของสถานที่เหล่านั้นที่ไม่ใช่จุดท่องเที่ยวดังๆ มากกว่า เป็นจุดเด่นในความธรรมดา ซึ่งปกติแล้วผมก็ไม่ได้วางแผนการท่องเที่ยวอะไรมาก แค่ไปตามทางเรื่อยๆ เท่านั้น
เพราะอะไรถึงชอบถ่ายภาพขาวดำ
ผมโตมากับการถ่ายภาพขาวดำ อีกอย่างหนึ่งก็คือ เวลามอง landscape ส่วนใหญ่ผมจะมองเป็นสีขาวดำตลอด นานๆทีจะมองเป็นสีไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนดูงานของ Ansel Adams เยอะ
มีสถานที่ที่อยากไปถ่ายภาพแต่ยังไม่เคยไปไหม
มีครับ สโลวีเนียกับโรมาเนียครับ สนใจเพราะมีคนบอกว่าตรงนั้นมีคนบอกว่ามันคือสวิตเซอร์แลนด์ที่ราคาถูกกว่า 4 เท่า และยังมีความเป็น fairy tale อยู่ คือยังไม่ค่อยมีคนไปเที่ยวมากนัก เพราะบ้านเมือง ธรรมชาติ เขายังดิบอยู่มาก จอร์เจียผมก็สนใจเหมือนกัน เพราะคุยกับ patrik ที่เป็นเพื่อนช่างภาพชาวเยอรมัน เขาเล่าให้ฟังว่า จอร์เจีย มันคือสวรรค์ มันคือเนปาล เวอร์ชั่นศาสนาคริสต์
โปรเจ็คในอนาคต
มีรวบรวมงานส่วนตัวที่ทยอยเก็บไว้ทำ photo book อยู่ครับ แต่ตอนนี้อยากโฟกัสกับงานนิทรรศการก่อน พอดีมีพี่ช่างภาพรุ่นใหญ่คนหนึ่งเขาสนใจงาน ที่ผมทำอยู่ชื่อว่า Whitesnake เป็นงานเกี่ยวกับการขยายตัวของเมือง whitesnake ซึ่งผมถ่ายมาประมาณปีถึงสองปีได้แล้ว แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก เนื่องจากผมจะเปลี่ยน format ของการทำงาน มาทำงานด้วยฟิลม์ 4×5 ซึ่งต้องใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ
อีกโปรเจ็คชื่อว่า “Song Diary” เกิดขึ้นจากตอนไปเที่ยวผมจะชอบฟังเพลง พอฟังเพลงหนึ่งซ้ำไปซ้ำมาเสร็จ มันยังอยู่ในหัวเรา ก็เลยลองถ่ายภาพให้เข้ากับความรู้สึกของเพลง อย่างล่าสุดตอนไปญี่ปุ่น ผมฟังเพลง Summer Rain ของวง DCNXTR ติดต่อกัน 9 วัน เลยเกิดความรู้สึกเกี่ยวกับญี่ปุ่นในลักษณะของเพลงนั้นขึ้นมา ภาพที่ถ่ายไปก็เลยออกมาอารมณ์นัวๆ ฟุ้งๆ แบบเดียวกับเพลง แล้วก็ไปถ่ายเพิ่มเติมที่ยุโรปด้วย
โปรเจ็คที่สามชื่อว่า “Power Line” ซึ่งเป็นรวมภาพเสาไฟฟ้าตามชานเมืองต่างๆ เหมือนกับเป็นตัวนำความเจริญเข้ามา ส่วนใหญ่เวลาไปเที่ยวผมจะถ่ายอะไรพวกนี้มาเสมอ เพราะอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะเกี่ยวกับตอนที่ผมกลับไปภูเก็ตครั้งแรกหลังจากที่ไม่ได้ไปมาสองปี บ้านเมืองมันเปลี่ยนไปหมดจากหน้ามือเป็นหลังมือ ป่ายางสวยๆ ที่เคยมีข้างทางก็กลายเป็นห้าง เป็นอะไรเต็มไปหมด เลยรู้สึกว่าการขยายตัวของเมืองมันก็มีผลเสีย ความรู้สึกนี้มันเลยผูกกับตัวผมมาเรื่อยๆ จนไม่รู้ตัว
ได้อะไรจากการถ่ายภาพบ้าง
อย่างแรกเลยมันเป็นอาชีพของผมไปแล้ว สามารถทำเงินได้จากสิ่งที่ผมรัก อย่างที่สองคิดว่ามันเป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง เวลารู้สึกเบื่อ เศร้า เหงา ตังค์ไม่มี ชีวิตแย่ พอจับกล้องถ่ายภาพแล้วจะไม่คิดเรื่องพวกนั้นเลย หัวจะว่างโดยอัตโนมัติ อีกอย่างคือมันได้ออกกำลังกายเพราะบางวันเดินเป็นสิบกิโลโดยที่ไม่ได้วางแผนอะไร แค่ไปเรื่อยๆ
ตั้งเป้าหมายการถ่ายภาพของตัวเองไว้อย่างไร
ไม่ได้ตั้งอะไรไว้เลย รู้แค่ว่าตอนนี้ต้องทำอะไรเท่านั้นเอง ยิ่งไปตั้งเป้าหมายมันจะยิ่งกดดัน และผมก็ไม่ได้เป็นคนมีความทะเยอทะยานสูง ผมก็ทำงานตรงหน้าไปเรื่อยๆ งานของผมส่วนใหญ่จะไม่ให้คำตอบกับคนดู ให้คนดูไปคิดเอง เพราะว่าช่างภาพในความคิดผม ไม่สามารถที่จะไปกำหนดความคิดคนให้มาเห็นด้วยกับตัวเองได้ นอกเสียจากจะเป็นการทำงานโฆษณา
อยากฝากอะไรให้คนอ่านที่ชอบถ่ายภาพ
ถ้าจะพูดแนะนำในฐานะช่างภาพ wedding ก็คือ “อย่าถ่ายแต่ wedding ไปถ่ายอย่างอื่นบ้าง” (หัวเราะ) เพราะถ้าคุณถ่ายแค่นั้นก็จะได้แต่ภาพ wedding ไม่มีส่วนผสมอย่างอื่นมาช่วยเลย ออกไปถ่ายด้วยใจที่เปิดกว้าง แล้วมันจะเข้ามาอยู่กับคุณโดยไม่รู้ตัว แล้วสิ่งเหล่านี้จะมารวมกันตอนที่คุณทำงานแต่ละชิ้นโดยไม่รู้ตัว งานคุณมันจะฉีกออกไปจากคำว่า event, wedding, commercial หรืออะไรหลายๆ อย่างที่คนมากำหนด มันอาจจะเป็นงานที่คุณเอาไว้ใช้สื่อสารกับผู้คนได้ชิ้นหนึ่ง หรืออาจจะเป็น masterpiece ของคุณชิ้นหนึ่งก็ได้ ไม่มีใครรู้
About
Tachpasit Kunaporn : www.tachpasit.com
fb: https://www.facebook.com/tachpasitphotography/
ig: @neon.diary