ในบรรดาแบรนด์ streetwear ทั้งหลาย แบรนด์หนึ่งที่หลายคนรู้จักดีก็คือ “A Bathing Ape” หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า “BAPE” เพราะนอกจากจะมีประวัติอันยาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 20 ปีแล้ว เสื้อผ้าจากแบรนด์นี้ยังส่งอิทธิพลต่อวงการ street fashion อย่างมากด้วยการออกแบบอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่โลโก้ไปจนถึงลวดลายบนเสื้อผ้าจนมีแฟนพันธุ์แท้ทั่วโลก หากคุณอยากรู้ว่า BAPE พัฒนาจากร้านเล็กๆ ในฮาราจุกุสู่การเป็นแบรนด์ streetwear ชั้นนำได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้คุณ
Episode I: The Ape King was Born
BAPE เกิดขึ้นจากมันสมองและสองมือของชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อว่า โทโมอากิ นากาโอะ หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า “Nigo” (นิโกะ) เขาเป็นลูกคนเดียวที่เติบโตในครอบครัวที่มีพ่อเป็นช่างทำป้ายโฆษณาและแม่เป็นนางพยาบาล ทั้งสองทำงานยุ่งมากจนไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูก ทำให้ Nigo มีเพียงแค่ของเล่น การ์ตูน และภาพยนตร์ต่างๆ เป็นเพื่อน โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง “Star Wars” และ “Planet of the Apes” ที่เขาเป็นแฟนตัวยง พอเข้าสู่วัยรุ่นเจ้าตัวก็เริ่มฟังเพลงของศิลปิน rock อย่าง The Beatles, Buddy Holly, Elvis, และวง hip hop อย่าง Beastie Boys และ Run-D.M.C. จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการออกแบบเสื้อผ้าของ BAPE และการใช้ชีวิตของเขาด้วย
เมื่อ Nigo โตขึ้น เขาก็กลายเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์/ดีเจ/โปรดิวเซอร์ ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในญี่ปุ่น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งและทำให้ BAPE โด่งดัง แต่อีกส่วนก็มาจากหน้าที่ดีเจของเขาในวง hip hop ชื่อดัง “Teriyaki Boyz” เจ้าของเพลงฮิต “Tokyo Drift” ในภาพยนตร์ “The Fast and Furious: Tokyo Drift” นั่นเอง ซึ่งแทบทุกครั้งที่วงนี้ออกสื่อ ขึ้นแสดงสด หรือปล่อย MV ออกมา จะสังเกตเห็นได้ว่าแบรนด์เสื้อผ้าที่พวกเขาใส่คือ BAPE กันทั้งวง
Episode II: Attack of the Ape
เรื่องราวของ BAPE เริ่มขึ้นหลังจาก Nigo เรียนจบจากสถาบันสอนแฟชั่นชื่อดังในโตเกียวอย่าง Bunka Fashion College และรับหน้าที่เป็นสไตลิสต์ควบตำแหน่งคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารแฟชั่นและ pop culture ชื่อดังของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า “Popeye” และ “Takarajima” (โดยเขียนคอลัมน์ “Last Orgy 2” ใน Takarajima ร่วมกับ Jun Takahashi รุ่นพี่คนสนิทที่รู้จักกันตอนเรียนที่ Bunka และนั่นก็ทำให้ทั้งคู่เริ่มมีชื่อเสียง) ในขณะเดียวกันก็ทำงานเป็นดีเจในคลับไปด้วย ด้วยความที่ชอบออกแบบเสื้อผ้าใช้เองอยู่แล้ว ในระหว่างนั้นเขาจึงลองทำกระเป๋า duffel ออกมาขายในจำนวนจำกัดในงานปาร์ตี้ที่เขาไปร่วมด้วย ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับที่ดี
จนเมื่อต้นปี ค.ศ. 1993 เขาและ Jun Takahashi ได้ยืมเงินจากคนรู้จักเป็นจำนวน 4 ล้านเยน(เทียบเป็นเงินไทยประมาณล้านกว่าบาท) และออกมาเปิดร้านขายเสื้อผ้าเล็กๆ ของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า “NOWHERE” ที่มุมเงียบๆ แห่งหนึ่งในย่านฮาราจุกุของกรุงโตเกียว โดย Jun นำเสื้อผ้าที่เขาออกแบบเองในชื่อแบรนด์ “UNDERCOVER” มาวางขายภายในร้าน ส่วน Nigo ก็นำเสื้อผ้าและรองเท้าทั้งของใหม่ ของ vintage และ deadstock มาวางขาย กระทั่งในปลายปีเดียวกันนั้น Nigo ก็ตัดสินใจที่จะสร้างแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองขึ้นมาโดยตั้งชื่อแบรนด์ว่า “A Bathing Ape” และมีเพื่อนชื่อ Sk8thing ร่วมเป็นดีไซเนอร์หลัก ในขณะที่ Jun ได้แยกตัวออกไปทำแบรนด์ตัวเองอย่างเต็มตัว
Nigo ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการตั้งชื่อ A Bathing Ape และออกแบบโลโก้ลิงกอริลล่ามาจากภาพยนตร์ดังในปี 1968 เรื่อง “Planet of the Apes” ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรลิงบนดาวเคราะห์แห่งหนึ่งที่มีอารยธรรม สูงกว่ามนุษย์ และอีกส่วนหนึ่งมาจากสำนวนญี่ปุ่น “ぬるまゆにつかる” (Nuruma yuni tsukaru) ที่แปลเป็นไทยตรงๆ ได้ว่า “แช่น้ำอุ่น” ซึ่งหมายถึง “รักสนุก” หรือ “อยู่แบบสบายๆ จนเคยตัว” (ปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมแช่น้ำร้อนเป็นกิจวัตร การได้แช่น้ำร้อนสื่อถึงความสบาย ความผ่อนคลาย แต่ Nigo ต้องการจะเสียดสีวัยรุ่นญี่ปุ่นยุคนั้นที่รักความสะดวกสบาย และไม่มีเป้าหมายในชีวิต แม้ว่าที่จริงแล้ววัยรุ่นเหล่านี้ก็คือลูกค้าหลักของเขาก็ตาม)
Episode III: Planet of the Apes
สินค้าหลักในช่วงแรกของ BAPE คือเสื้อ T-shirt โดย Nigo ไม่ได้วางแผนโปรโมทอะไรนอกจากจะนำเสื้อกว่าครึ่งหนึ่งที่ทำออกมาไปแจกให้กับ เพื่อนๆ และศิลปินที่รู้จักกันเพื่อให้แบรนด์ของเขามีกระแสบอกต่อกันแบบปากต่อปาก และลงโฆษณาในนิตยสารแฟชั่นรายเดือนบ้าง ซึ่ง Cornelius ศิลปินดังคนหนึ่งของวงการเพลงอินดี้ญี่ปุ่นถือเป็นคนแรกๆ ที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
แม้ว่าจำนวนผลิตที่จำกัดบวกกับ ราคาที่ค่อนข้างสูงทำให้น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของเสื้อผ้าเหล่า นี้ แต่ด้วยดีไซน์และคุณภาพที่โดนใจทำให้กระแสความคลั่งไคล้ในแบรนด์มีมากขึ้น เรื่อยๆ สื่อต่างๆ ก็เริ่มจับตามองไม่เว้นแม้แต่นิยสารชื่อดังของอังกฤษอย่าง i-D ที่เคยนำเสื้อ Rain Jacket รุ่นแรกของ BAPE ไปลงตีพิมพ์ในปี 1995 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ Nigo ก่อตั้งบริษัท Nowhere Co., Ltd. ขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการของ BAPE อย่างเป็นทางการ
ด้วยความนิยมที่มากขึ้นและแนวคิดของ Nigo ที่ต้องการขยายขอบเขตของ BAPE ให้เป็นมากกว่าแบรนด์เสื้อผ้า แต่ครอบคลุมวิถีชีวิตของผู้คนเอาไว้ทั้งหมด ราวกับต้องการสร้างอาณาจักรลิงแบบเดียวกับในภาพยนตร์เรื่องโปรดของเขา เขาจึงเริ่มจัดงานคอนเสิร์ตของ BAPE ชื่อ “BAPE HEADS SHOW” (คำว่า “BAPE head” หมายถึงคนที่เป็นแฟนตัวยงของ BAPE) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1997 โดยมีศิลปินทั้งในและต่างประเทศมาร่วมโชว์และมี Cornelius เป็นไฮไลต์ ซึ่งงานนี้ก็กลายเป็นธรรมเนียมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอีกหลายปี และ Nigo ก็เร่งเปิดสาขาเพิ่มในเมืองใหญ่ๆ ทั่วญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “BUSY WORK SHOP” ในปี 1998 ตามด้วยการก่อตั้งค่ายเพลงอินดี้ “BAPE SOUND” ในปีต่อมา และเมื่อ BAPE เติบโตขึ้นมาก ร้าน NOWHERE ก็ปิดตัวลงในปี 2000
BAPE HEADS SHOW – 2000
ในปี 2001 BAPE ขยายกิจการต่อด้วยการเปิดร้าน “FOOTSOLDIER” ขึ้นในโตเกียวและเกียวโตเพื่อจำหน่ายรองเท้าโดยเฉพาะ พร้อมทั้งเปิดตัวไลน์รองเท้า “BAPESTA” ที่กลายเป็นอีกหนึ่งไอเทมดังของแบรนด์ ความพิเศษของรองเท้า BAPESTA คือดีไซน์ที่ใครๆ ต่างก็บอกว่ามัน “ได้แรงบันดาลใจ” จากดีไซน์ของรองเท้า Nike Air Force 1 มาเต็มๆ เลย แต่สิ่งที่แตกต่างกันหลักๆ ก็คือ BAPE ใช้แถบรูปดาวในส่วนที่เป็นโลโก้ Swoosh และเปลี่ยนจากคำว่า “AIR” ตรง midsole เป็น “APE” แทน ทั้งยังเลือกใช้หนังแก้วเป็นวัสดุหลักในส่วนของ upper และ toebox บวกกับ colorway ที่สดใสจนดูแสบตาและยังมีสีสันมากมายให้เลือกอีกด้วย
ปีถัดมา BAPE ก็เริ่มก้าวสู่สื่ออื่นๆ อย่างทีวีด้วย “BAPE TV” เท่านั้นยังไม่พอ ยังเปิดแกลลอรี่เองอย่าง “BAPE GALLERY”, ร้านทำผม “BAPE CUTS”, ร้านอาหาร “BAPE CAFE!?” และเปิดสาขา “BUSY WORK SHOP” ในต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่ London หลังจากนั้น Nigo ก็ทยอยเปิด BAPE STORE ที่เมืองใหญ่ในต่างประเทศอีกหลายแห่ง เริ่มจาก New York และ LA ในอเมริกา(ปัจจุบันสาขา LA ปิดทำการแล้ว) ต่อด้วยที่ฮ่องกง จีน เกาหลีใต้ และล่าสุดในปี 2015 นี้ที่กรุงเทพฯ บ้านเรา นี่ยังไม่รับรวมร้าน “BAPE KIDS” ที่เปิดตัวในฮาราจุกุเมื่อปี 2006 และอีกหลายสาขาในเวลาต่อมา เพื่อจำหน่ายเสื้อผ้าสำหรับเด็กโดยเฉพาะอีกต่างหาก
BAPE GALLERY
BAPE CUTS
BAPE CAFE!?
BAPESTORE – LA
BAPESTORE – Hong Kong
BAPESTORE – Shanghai
BAPE KIDS – Harajuku
นอกจากเสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าผู้หญิงของ BAPE (APEE) ก็มีไม่น้อย แต่ Nigo ก็ไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เขายังร่วมมือกับ United Arrows แบรนด์เสื้อผ้า High Fashion ของญี่ปุ่น ทำแบรนด์ “Mr. Bathing Ape” เน้นเสื้อผ้าผู้ชายที่ดูทางการขึ้น เช่น เสื้อเชิ้ต เบลเซอร์ และเน็คไท สำหรับลูกค้าวัยทำงานด้วย
จากจุดแรกเริ่มที่ทำแค่เสื้อยืด BAPE ก็มีสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาจนครบทุกไลน์ ทั้งเสื้อ หมวก กางเกง กระเป๋า ไปจนถึงรองเท้าแล้ว ยังมีแบรนด์ “BAPE EYEWEAR” ที่เพิ่มไลน์แว่นตาขึ้นมาโดยเฉพาะอีก เรียกได้ว่าครบเครื่องจริงๆ
Episode IV: The Success Stories
สิ่งที่ทำให้ BAPE ประสบความสำเร็จได้นั้นเริ่มมาจากคอนเซ็ปต์ที่เน้นความสนุกสนาน ขี้เล่น ทำให้ดีไซน์เสื้อผ้าทุกชิ้นดูสดใส และมักจะแฝงด้วยไอเดียแปลกๆ ที่ใส่แล้วดูโดดเด่นทันที เช่น โลโก้รูปลิงกอริลล่าที่มีอยู่ในเกือบทุกไอเทม, เสื้อลาย camo ในหลายๆ คอลเล็คชั่นที่มีรูปแบบเฉพาะตัวด้วยการใส่โลโก้ลงไปด้วย ทำให้ลาย camo อันแสนคลาสสิคกลายมาเป็นดีไซน์ของ BAPE ที่ถูกใจใครหลายๆ คนได้อย่างน่าทึ่ง, เสื้อ Shark Full Zip Hoodie ที่สามารถรูปซิปขึ้นไปครอบหัวได้และมีลายหัวปลาฉลาม, BAPESTA รองเท้าสีแสบๆ ที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำ(แต่มีคนกล้าใส่) และอีกมากมาย ทั้งยังเลือกใช้วัสดุคุณภาพดี การตัดเย็บที่ดี จำนวนผลิตอันจำกัด รวมถึงการพยายามเข้าไปอยู่ใน lifestyle ของวัยรุ่นทั้งหลาย
นอกจากเรื่องที่ว่ามา ส่วนสำคัญที่ทำให้ BAPE เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็คือการ collab กับแบรนด์และศิลปินดังมากมายจนนับไม่ถ้วน เริ่มตั้งแต่ปี 1998 ที่ร่วมออกแบบนาฬิกาข้อมือกับแบรนด์ G-Shock ตามด้วยการออกเสื้อผ้าคอลเล็คชั่นพิเศษที่ collab กับ street artist ชื่อดังอย่าง Stash และ Futura ก่อนที่ในปี 2001 BAPE จะเซอร์ไพรส์ทุกคนด้วยการ collab กับ Pepsi และทำขวดลาย camo อันเป็นเอกลักษณ์ออกมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสินค้าจาก BAPE ที่ราคา retail ถูกที่สุดเท่าที่แฟนๆ จะหาซื้อได้แล้ว
แต่ BAPE ไม่หยุดเพียงแค่นี้ ยังตามมาด้วยคอลเล็คชั่นพิเศษที่ collab กับแบรนด์เสื้อผ้า streetwear อย่าง Supreme, Adidas, Carhatt, Converse, Billionaire Boys Club, Stussy, Ebbets Field Flannels, Comme des Garçons, Undefeated, Wrangler, และ Fred Perry เป็นต้น นอกจากนี้ยังร่วมงานกับดีไซเนอร์ชั้นนำอย่าง Mark McNairy และ KAWS รวมถึงแร็ปเปอร์แถวหน้าอย่าง Pharrell Williams, Kanye West, Snoop Dogg, A$AP Ferg, Kid Cudi, Beastie Boys ไปจนถึงคาแร็คเตอร์จากค่าย Marvel Comics, DC Comics, Disney, Nintendo รวมทั้งภาพยนตร์ดังอย่าง The Godfather, Ghostbusters, Star Wars และยังมี collab กับแบรนด์ของใช้ต่างๆ ที่คาดไม่ถึงอย่างเช่น ถุงยางอนามัย Durex หรือแม้แต่ เบ็ดตกปลาของ Daiwa Fishing และอีกมากมายจนถึงปัจจุบัน
BAPESTORE – Harajuku
Episode V: The Ape King Stepped Down
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ BAPE ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเพียงอย่างเดียว เมื่อ BAPE ต้องเผชิญกับภาวะหนี้สินจำนวนมหาศาล จนกระทั่งในปี 2011 Nigo จำเป็นต้องขายกิจการที่เขาสร้างขึ้นมาเองกับมือให้กับ “I.T” กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่จากฮ่องกงที่มีแบรนด์เสื้อผ้าจำนวนมากมายอยู่ในการดูแล ด้วยดีลในราคาเพียง 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่หลายคนให้ความเห็นว่า “ถูกจนน่าตกใจ” เมื่อเทียบกับชื่อเสียงของแบรนด์และทรัพย์สินที่ Nigo มี
Notorious B.I.G.
สาเหตุส่วนหนึ่งที่ BAPE สูญเสียรายได้ไปมากแม้ว่าจะมีกิจการภายในเครือมากมายก็คือบรรดาของปลอมที่มี อยู่เกลื่อนกลาดโดยเฉพาะใน ebay เนื่องจากของแท้นั้นมีจำหน่ายเฉพาะใน BAPE STORE และร้านค้าในเครือเท่านั้น แถมยังมีจำนวนจำกัดเหลือเกิน ขัดกับความต้องการที่สูงลิ่ว ยิ่งแฟนๆ ชาวอเมริกันนั้น ถ้าไม่ได้อยู่ใน New York ซึ่งเป็นที่เดียวที่มีร้าน BAPE STORE ก็แทบจะหมดสิทธิ์ จนมีคำศัพท์เฉพาะอย่าง “FAPE” ที่ย่อมาจาก “Fake BAPE” ใช้เรียกของปลอมกันในแวดวงแฟนคลับและตลาดซื้อขายสินค้า streetwear เลยทีเดียว นอกจากนี้ความนิยมของ BAPE ในญี่ปุ่นเองก็มาถึงจุดอิ่มตัวแล้วเช่นกัน เมื่อ BAPE ได้ก้าวจากแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์แบบ underground มาเป็นแบรนด์ที่ดู mass ขึ้นจากแต่ก่อนมาก เพราะมี shop ไปเปิดในต่างประเทศหลายแห่งและเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น
Wiz Khalifa
A$AP Rocky
Travi$ Scott
Drake
Pharrell Williams and his wife Helen
Jay Z and his wife Beyonce
Lil Wayne
Future
อันที่จริง นอกจากปัญหาการเงินติดลบ Nigo เองก็มีความตั้งใจที่จะวางมือจาก BAPE เพื่อออกไปรับงานออกแบบอิสระและทำโปรเจ็คส่วนตัวมาก่อนหน้านั้นสักพักแล้ว ส่วน I.T ก็เล็งเห็นว่าแม้ BAPE จะมาถึงทางตันในตลาดญี่ปุ่นแล้ว แต่ยังไปต่อได้ในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในฮ่องกงและอเมริกาที่มีแฟนคลับเหนียวแน่น การขายกิจการครั้งนี้จึงถือว่าสมเหตุสมผลอยู่พอสมควร
Episode VI: Return of the Apes
หลังจากที่ประกาศขายกิจการไป Nigo ยังคงบริหารงานและออกแบบเสื้อผ้าให้ BAPE ต่ออีก 2 ปี แล้วก็ไม่ยอมต่อสัญญากับ I.T อีก จากนั้นเขาก็ออกไปสร้างสรรค์เสื้อผ้าให้กับ “UNIQLO UT” ในตำแหน่ง creative director รวมทั้งรับงานจากแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ที่มาชักชวนเขาไปร่วมโปรเจ็คด้วย ทั้งยังกลับไปเปิดร้าน NOWHERE ร่วมกับ Jun Takahashi อีกครั้งในฮ่องกง เท่านั้นยังไม่พอ เขายังปั้นแบรนด์เสื้อผ้าใหม่ของตัวเองที่ทำร่วมกับ Sk8thing อย่าง “HUMAN MADE” ขึ้นมา และยังคงโปรดิวซ์งานเพลงให้กับศิลปินอื่นด้วย
with UNIQLO UT
with Jun
with HUMAN MADE
แม้ว่าวันนี้ Nigo ผู้ให้กำเนิดและเสาหลักของ BAPE จะไม่อยู่ดูแลทิศทางของแบรนด์เช่นเคยอีกต่อไป แต่เราเชื่อว่า BAPE ยังคงมีอนาคตที่สดใส ด้วยทุนสนับสนุนที่แข็งแกร่งขึ้นและแฟนรุ่นใหม่ๆ จากทั่วโลก รวมถึงการร่วมงานกับศิลปินและแบรนด์ดังๆ อยู่ตลอดอย่างที่ในปี 2015 นี้มีเสื้อผ้าคอลเล็คชั่นพิเศษ ฉลองครอบรอบ 10 ปีของ BAPE STORE New York ที่ collab กับศิลปินระดับโลกออกมา น่าจับตามองว่าต่อจากนี้ไป BAPE จะมีอะไรครีเอทีฟๆ สนุกๆ ออกมาให้เราเซอร์ไพรส์(และอาจต้องควักกระเป๋า)กันอีก