ชื่อของ คุณทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ อาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หรือแม้กระทั่งในแวดวงช่างภาพด้วยกัน แต่ในสาขา street photography เขาคือช่างภาพที่ชนะเลิศการประกวดรางวัลใหญ่อย่าง Miami Street Photography Festival และคว้ารางวัลในอีกหลายรายการในระดับนานาชาติมาแล้ว รวมถึงได้รับการเผยแพร่และตีพิมพ์ในนิตยสารและสื่อทั้งไทยและเทศอีกไม่น้อย เขาทำได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์นี้
งานที่ทำในปัจจุบัน
ผมเปิดบริษัทชื่อ สาธุฟิล์ม ครับ ทำงานในตำแหน่ง director เปิดบริษัทนี้มาตั้งแต่ปี 2008 รับงาน production house ส่วนมากจะเป็นงาน internal presentation ขององค์กร แล้วก็งานโฆษณาบ้างครับ
จุดเริ่มต้นความสนใจในการถ่ายภาพ
สมัยเรียนมัธยมที่อัสสัมชัญ ศรีราชา เป็นเด็กหอครับ เสาร์- อาทิตย์ ไหนไม่ได้กลับบ้าน ทางโรงเรียนจะให้เลือกว่าจะไปว่ายน้ำหรือเข้าห้องสมุด ผมเองกลัวดำ เลยชอบไปนั่งตากแอร์ในห้องสมุด (หัวเราะ) นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักนิตยสารกรอบเหลืองที่ชื่อ National Geographic คือรู้สึกว่าภาพในหนังสือเล่มนี้มัน สวย แปลกตากว่า หนังสือทั่วๆ ไปที่เคยเห็น คิดว่านั่นน่าจะเป็นจุดแรกๆ ที่สนใจการถ่ายภาพ
เริ่มมาได้จับกล้องถ่ายรูปครั้งแรกก็ตอน เรียนสาขาภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ ม .รังสิตแล้ว ซึ่งมันจะมีวิชาภาพนิ่งด้วย ซื้อกล้องฟิล์มมาใช้เรียน ได้หัดถ่ายภาพ ได้ล้างฟิล์มเอง เลยลองถ่ายภาพสไตล์นิตยสาร National Geographic คือใน National Geographic ส่วนมากมันก็จะมีเรื่องของ ธรรมชาติ สัตว์ป่า ท้องทะเล แล้วก็เรื่องของคนในวัฒนธรรมต่างๆ รู้สึกตอนนั้นจะอินกับเรื่องราวของผู้คน เลยชอบถ่ายภาพคน ถ่ายวิถีชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่ตอนนั้น โดยตอนนั้นก็ยังไม่รู้นะว่า street photography มันคืออะไร
สมัยนั้นยังถ่ายรูปด้วยฟิล์ม ผมรู้สึกว่ามันไม่รวดเร็วทันใจ มาเจอจุดเปลี่ยนตอนปี 2 ที่เริ่มซื้อ DSLR มาใช้ คือ เป็น DSLR รุ่นแรกๆเลย จำได้ว่าแพงมาก (หัวเราะ) แต่ข้อดีคือเราได้ถ่ายเยอะมาก ถ่ายเกือบทุกวัน ให้ได้วันละ 100 ภาพ พอได้ภาพมาเพื่อนก็แนะนำให้ลองโพสต์ลงพันทิปดู ซึ่งก็เป็นภาพของวิถีชีวิตของคนหลากหลาย แถวๆ มหาวิทยาลัยนั้นละ พอโพสต์ไปก็มีคนมาบอกว่า “นี่มันภาพแนว life” ผมก็เลยเพิ่งรู้ว่า อ๋อ มันคือแนวนี้เหรอ มารู้ที่หลังว่า จริงๆ ภาพถ่ายแนว life มันไม่มีนะ เป็นสิ่งที่บ้านเราเรียกกันเอง
จริงจังกับการถ่ายภาพตอนไหน
พอเรียนจบ เผอิญ National Geographic ก็เริ่มเข้ามาผลิตฉบับภาษาไทย ซึ่งจะมีมีคอลัมน์ชื่อ “รหัสไปรษณีย์” ที่เปิดรับเรื่องจากคนไทย ผมก็เลยลองทำดู โดยที่ไม่ได้ติดต่อทางนิตยสารไปก่อนเลยนะ โทรไปยืมกล้องฟิล์มเพื่อน (ช่วงแรกๆ National Geographic ยังไม่เปิดรับภาพจากกล้องดิจิตอล) ไปซื้อฟิล์มสไลด์แถวลาดพร้าว แล้วก็ไปตะเวนถ่ายแถวๆ พาหุรัด ที่เลือกพาหุรัดเพราะว่ามันดูเข้ากับสไตล์ของ National Geographic ดี (หัวเราะ) คือมันดูเป็นอินเดีย แต่ก็อยู่ในไทย มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ผมก็ถ่ายจนได้ภาพมาจำนวนหนึ่ง แล้วเผอิญว่าในปีนั้นเกิด ไฟไหม้พาหุรัด ซึ่งมันจะมีภาพบางส่วนที่ถ่ายไว้ก่อนไฟไหม้พอดี แล้วคิดว่าน่าจะมีเรื่องเล่า เลยกลับไปถ่ายมาเพิ่ม ชวนเพื่อนสนิทมาช่วยเขียนเรื่อง เสร็จก็ส่ง e-mail แนบไฟล์ภาพ ไปหาทีมงานเลย ไม่กี่วันต่อมา ทาง บก. ก็โทรกลับมา ว่าเรื่องและภาพที่ส่งมาน่าสนใจ เลยได้ร่วมงานกัน สุดท้ายภาพและบทความชุดนั้นก็ได้ลงคอลัมน์ในหนังสือ National Geographic จริงๆ มาคิดดูแล้วตอนนั้นก็บ้าใช้ได้เลยนะ
พอตีพิมพ์เสร็จ เขาก็ติดต่อกลับมาว่าจะให้ทำต่อ มีการพูดคุยคร่าวๆ ถึงเรื่องที่จะทำ แต่มันต้องใช้เวลาเยอะ กว่าจะเป็นสารคดีสักเรื่องหนึ่ง คือ มันต้องรักและทุ่มเทมากจริงๆ ถึงจะทำงานนี้ได้ ผมเองรู้สึกว่ามันต้องใช้ความพยายามและเวลามาก ประกอบกับก็ยังมีความฝันหลายๆ อย่างที่อยากทำ โดยเฉพาะการทำภาพยนตร์อย่างที่เรียนมา เลยแอบถอดใจ แล้วพอดีว่าช่วงนั้นผมประสบอุบัติเหตุ จากการออกไปเดินถ่ายรูปนี่แหละ เท้าเป็นแผลเย็บหลายเข็ม เดินไม่ได้หลายเดือน ก็เลยเงียบๆ ไป
หลังจากนั้นทำงานอะไรต่อ
ผมก็รับงานตามสายที่เรียนมาครับ เริ่มจากทำงานตัดต่อก่อน เป็น subcontract ให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พอรู้จักคนมากขึ้นก็เริ่มรับงานเอง แล้วก็ได้เป็นผู้กำกับ ทำไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2013 โดยที่เรียกได้ว่าหยุดการถ่ายภาพไปยาวเลย จนกระทั่งเก็บเงินได้มากพอที่จะซื้ออุปกรณ์เพิ่ม ก็เลยบ้าอุปกรณ์ ซื้อๆ ขายๆ ไปมาอยู่ตลอด จนถึงจุดสูงสุดคือ กล้อง Leica (หัวเราะ) ซึ่งรู้สึกว่ามันใช้ยากกว่ากล้องทั่วๆ ไป เลยเริ่มเสาะหาข้อมูลว่า ทำไมมันเป็นที่ใฝ่ฝันของช่างภาพ ช่างภาพดังๆ คนไหนเคยใช้มาก่อน ทำให้ผมได้รู้จักกับช่างภาพ street photographer ยุคคลาสสิคในอดีต เช่น HCB (Henri Cartier-Bresson) กับ Eliott Erwitt ซึ่ง 2 คนนี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจในเวลาต่อมา แต่ช่วยนั้นก็ยังถ่ายๆ หยุดๆ ได้ถ่ายบ้างก็แค่ตอนไปเที่ยวไกลๆ ไม่ได้ถึงกับจริงจังมาก
จุดผลิกผันที่ ทำให้กลับมาจริงจังกับการถ่ายภาพ อีกครั้ง
เป็นช่วง ตอนปลายปี 2013 ฮะ จู่ๆ ภรรยาก็ซื้อตั๋วเครื่องบินให้ไปเมืองพาราณสี ที่อินเดีย ให้เป็นของขวัญครบรอบแต่งงาน เป็นของขวัญครอบรอบแต่งงานที่ฮามาก คือส่งสามีให้ไปไกลๆ เลยคนเดียว คงเป็นเพราะช่วงก่อนหน้านั้นผมบ่นว่าอยากไปเที่ยวและถ่ายรูปแบบยาวๆ ให้ได้ยินบ่อยๆ และผมเองก็เคยพูดถึงว่าอยากไปที่นั่นมานานแล้ว แต่ไม่เคยได้ไปสักที ซึ่งพอถึงเวลาที่ได้ไปจริง ผมนี่ตื่นเต้นมากนะ ที่จะได้ไปทริปนี้คนเดียว เพราะปกติจะติดภรรยา ไปไหนด้วยกันตลอด (หัวเราะ) ผมก็ไปถ่ายรูปทั้งวัน ประมาณ 7-8 วัน มีต่อเวลาด้วย เพราะภรรยาให้ไปแค่ 5-6 วัน (หัวเราะ) พกกล้องไป 2 ตัวคือ Leica M9p กับ Sony A7R ที่เพิ่งออกมาพอดี ตอนแรกกะว่าจะใช้ A7R เป็นกล้องสำรอง แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นตัวหลักไปเลย เพราะว่า Leica M9p เนี่ย ข้อเสียคือเราไม่ได้มองผ่านเลนส์ แต่มองผ่านกระจก ซึ่งเวลาเข้าใกล้วัตถุมันจะเกิด parallax เฟรมภาพมันจะไม่ตรงกันกับที่เห็นซะทีเดียว แต่ A7R เนี่ย ตรงเป๊ะ รวมถึง เห็น Depth of Field ด้วย ซึ่งมันเปลี่ยนการถ่ายรูปของผมไปเลย ทำให้ผมได้สไตล์การถ่ายภาพอีกแบบหนึ่งกลับมาด้วย แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรกับ ภาพชุดนี้นะ แค่เอาไปโพสต์ Facebook ขอบคุณภรรยา (หัวเราะ)
เข้าร่วมกลุ่ม street photographer ในไทย
เอาเข้าจริงแม้จะศึกษามาบ้างก็ยังไม่ได้เข้าใจคำว่า street photography เสียทีเดียว แต่ก็โพสต์ภาพจากทริปพาราณสีไปในเพจ Street Photo Thailand ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับที่ดี โดยเฉพาะภาพที่เป็นฤาษีนั่งสมาธิแต่ด้านหลังมีลิงสองตัวกำลังขี่กันอยู่ (หัวเราะ) ซึ่งเป็นภาพที่ดีที่สุดในทริป เพราะมันมี “Decisive Moment” หรือ “จังหวะฉับพลัน” และก็ “sense of humor ” หรือ “ความรู้สึกของอารมณ์ขัน” อยู่
หลังจากนั้นไม่นาน ทางเพจ Street Photo Thailand ก็มีกิจกรรม “365 days in 2014” กติกาคือถ่ายภาพทุกวัน แล้วเลือกหนึ่งภาพมาโพสต์ในเพจ ซึ่งก็ตรงกับความตั้งใจของผมอยู่แล้วด้วยที่อยากจะกลับมาฝึกถ่ายภาพจริงจังอีกครั้ง ตอนนั้นคิดเลย ไม่น่าจะยาก (หัวเราะ) ก็เลยเริ่มออกไปถ่ายภาพมาร่วมกิจกรรมดู แล้วก็ทำต่อไปเรื่อยๆ จากที่ตอนแรกมีคนเข้าร่วมอยู่ 30-40 คน พอผ่านมา 2-3 เดือนก็ค่อยๆ ร่อยหรอลงไป มันดูเหมือนจะง่ายนะ แค่หาเวลาออกไปถ่ายรูป เลือกรูปมาโพสต์เอง แต่ความเป็นจริงก็คือทุกๆ วันมันยากขึ้นเรื่อยๆ มุมนี้ก็เคยถ่ายไปแล้ว มุกนี้ก็เล่นไปแล้ว แล้วพอถ่ายไปสักพักงานของเราอยู่ตัว มันจะมีมาตราฐานนึงที่เราเองก็ไม่อยากจะดร็อปไปจากจุดนั้น มันเริ่มไม่สนุกเหมือนตอนแรกๆ ที่ทุกอย่างใหม่หมด ช่วงเดือนหลังๆ สำหรับผมนี่มันจะเป็นการเอาตัวรอดในแต่ละวันนะ (หัวเราะ) เพราะเราต้องพยายามถ่ายให้ออกมาดีทุกวัน เรียนรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองไปเรื่อยๆ แต่ความสนุกของกิจกรรมนี้ก็คือ ลุ้นว่าภาพที่ถ่ายไว้จะโดนปัก pin โดยแอดมิน ซึ่งภาพที่ pin จะถูกนำไปรวมเล่มเป็น e-book รายเดือนของทางเพจ ซึ่งเวลาเห็นภาพตัวเองถูกจัดเรียง ถึงจะเป็นแค่ e-book แต่ฟีลลิ่งมันใช่มากๆ
เกี่ยวกับรางวัลภาพถ่ายที่ได้รับ
ครั้งแรกที่ประกวดภาพถ่ายคือ มีน้องคนหนึ่งมาชวนไปประกวดงาน Urban Picnic Street Photography ของอังกฤษ เขาบอกว่ากรรมการเป็น ช่างภาพจากกลุ่ม In-Plubic เลยนะ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มช่างภาพ street photography ชื่อดังของโลก ผมก็ส่งภาพไปจำนวนหนึ่ง ผลสรุปออกมา ภาพ “tree man” ก็ติด finalists และและได้เป็น 1ใน 4 Honourable Mention ด้วย ก็เลยรู้สึกว่า “เรามาถูกทางแล้ว”
หลังจากนั้นก็มีน้องอีกคนหนึ่งที่ไปอบรมใน workshop เกี่ยวกับถ่ายรูป และทราบข่าวว่ามีการประกวด EyeEm Awards น้องเค้าก็มาชวนส่งด้วย (คือการประกวดทุกครั้งนี่ไม่รู้เป็นอะไร จะต้องมีคนชวน) ซึ่ง EyeEm Awards นี่จะมีหลายหัวข้อ ทั้ง street photography, portrait, landscape ผมก็ส่งไปหมดแม็กเลย (หัวเราะ) ซึ่งรูป “headless dog” ของผมก็ติด finalists และปรากฏว่าสุดท้ายก็ได้รางวัลที่ 1 ในหมวด street photography เลย นับเป็นครั้งแรกที่ชนะ Winner ของการประกวดภาพถ่าย
ต่อมา ก็เป็นที่ Miami Street Photography Festival ได้รางวัลชนะเลิศมาด้วยภาพ “tree man” ซึ่งเป็นภาพหากิน (หัวเราะ) เป็นรางวัลที่ภูมิใจที่สุด เพราะเป็นการประกวดภาพ street photography แท้ๆ และเป็นรายการใหญ่ที่สุดของโลกก็ว่าได้ อารมณ์ประมาณโอลิมปิกของวงการภาพ street เพราะรายการอื่นๆ บางปีก็หายไปไม่มีการจัด แต่รายการนี้จัดต่อเนื่องกันมาหลายปี กรรมการก็เป็นช่างภาพชื่อดังจาก National Geographic และ Magnum Photos อย่าง Alex Webb และ Constantine Manos แถมยังให้ของรางวัลมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีด้วย
สไตล์การถ่ายภาพของตัวเอง
จริงๆ ก็ไม่ได้มีสไตล์ไหนเป็นพิเศษนะฮะ แต่เท่าที่สังเกตมา ภาพของผมที่ได้รับความนิยม จะมีส่วนผสมระหว่างความลึกลับกับความตลก มีเนื้อหาจับใจคน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ใน Composition ที่แข็งแรง
กว่าจะได้ภาพที่ต้องการแต่ละใบ ถ่ายไปเยอะแค่ไหน
เอาเข้าจริงช่างภาพแนว street photography จะถ่ายเสียเยอะมาก Alex Webb บอกว่า “99 เปอร์เซ็นต์ของการถ่ายภาพสตรีทคือความล้มเหลว” (หัวเราะ) ช่างภาพบางคนถ่ายซีนหนึ่งเยอะมาก หลายสิบภาพ เพื่อเลือกภาพที่ดีที่สุดมาแค่ภาพเดียว บางคนอาจจะคิดว่าถ่ายแชะเดียวเลย ตัดสินใจดีๆ จังหวะดีๆ ก็พอ แต่ที่จริงแล้วคุณไม่จำเป็นต้องกดชัตเตอร์แค่ครั้งเดียวก็ได้ ถ่ายไปจนกระทั่งในซีนนั้นไม่มีอะไรให้ถ่ายค่อยหยุด น่าจะเป็นการดีที่สุด
เทคนิคในการหามุมที่ต้องการ
บางครั้งผมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแต่ละภาพที่ถ่ายมาจะได้แบบนั้นแบบนี้ แต่มันเกิดจากเซนส์ว่าคนคนนั้น หรือในเหตุการณ์นั้นน่าจะมีอะไร แรกสุดก็ดู composition ก่อนเลย แล้วค่อยตามด้วย gag หาความเชื่อมโยง แต่ถ้ามองออกแต่แรกว่าภาพจะเป็นยังไงพอถ่ายออกมาก็จะเฉยๆ แต่ถ้าหากว่าจู่ๆ มันเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เป็นภาพที่ “ปัง” คือเกิดจากความไม่ตั้งใจ ผมจะชอบมาก เหมือนอย่างภาพฤาษีที่พาราณสีเป็นต้น เพราะทีแรกไม่ได้ใส่ใจเขาเลย พอเห็นลิงวิ่งไปมาก็เลยยกกล้องขึ้นมาถ่าย สักพักลิงมันก็ขึ้นมาขี่กัน
หรืออย่างภาพ “headless dog” นี่ก็เหมือนกัน ใครจะไปคิดว่าจะถ่ายหมาทำท่านี้ ณ ตอนนั้น ผมแค่คิดว่าฉากมันดูเรียงๆ กันเป็นกราฟฟิคสวยดี แค่อยากจะถ่ายเล่นๆ ก็เลยเล็งๆเพื่อจะกดชัตเตอร์ กลับกลายเป็นว่าได้จังหวะที่มันหันไปเลียอะไรสักอย่างพอดี อย่างไรก็ตามถ้าได้มีโอกาสออกไปถ่ายภาพบ่อยๆ บางสถานการณ์เราพอจะคาดเดาได้ครับ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างภาพล่าสุด “Ant man” ที่ได้มา คือมุมนี้ผมกดใบแรกๆ จะได้ภาพพี่เค้าเป็นคนตัวเล็กนั่งอยู่บนถ้วยเฉยๆ แต่ก็คิดในใจคือเดี๋ยวน่าจะมีจังหวะอะไรที่น่าสนใจกว่านี้ ก็เล็งต่อไป ยังไม่ลดกล้องลง แป๊บเดียวเองพี่เค้าลุกขึ้น เท่านั้นละ ปังเลย กลายเป็นว่ารูปออกมาคล้ายพี่เค้าเป็นคนตัวเล็กกำลังจะกระโดดลงถ้วย ซึ่งความอิมแพ็คมันมากขึ้นเยอะเลยจากใบที่นั่งบนถ้วยเฉยๆ
ส่วนเทคนิควิธีการเข้าไปถ่ายคน ของผมจริงๆ ก็ไม่มีอะไรมากนะครับ เดินเข้าไปถ่ายเลย แต่จะผูกผมมัดจุก ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว ถ้าคนเขาถามอะไรมาเช่น “ถ่ายไปทำอะไร” ก็ทำหน้างงๆ ยิ้มๆ เขาก็มักจะคิดว่าเราเป็นคนญี่ปุ่น ส่วนมากเขาก็จะไม่ว่าอะไร หรืออย่างกรณีจะถ่ายผู้คนในระยะใกล้ๆ ผมเองก็ใช้วิธี มองไปไกลๆ คือไม่ได้มองคนที่เราจะถ่ายนะครับ มองไปเลยด้านหลัง คือเหมือนจะถ่ายวิว แต่ตอนจัดองค์ประกอบก็ติดเขามาด้วยอะไรแบบนี้
อุปกรณ์ที่ใช้
ก่อนหน้านี้กล้องที่ใช้ประจำคือ Sony A7S แต่ล่าสุด Sony Thailand ให้การสนับสนุน โดยมอบกล้อง A7RMk II และ Rx100 Mk 4 มาใช้สำหรับทำโปรเจ็คด้วย ส่วนอีกตัวคือ Leica M9p เอาไว้เป็นกล้อง Prop (หัวเราะ) ที่จริง Leica โดยเฉพาะ M9p สีมันสวยมาก แต่อย่างที่บอกไปว่าข้อจำกัดคือมันไม่ได้เฟรมตรงตามที่ต้องการ แล้วในวงการ street photography นี่บางกลุ่มจะซีเรียสกันมากเรื่องห้าม crop ภาพ (แต่จริงๆผมไม่ซีเรียสนะ ถ้าจะครอปนิดๆ หน่อยๆ หรือในกรณีบิดภาพให้ตรง) ซึ่งจริงๆ ก็มีข้อดีคือเวลาเอาไปอัดใหญ่ๆ จะได้เต็ม Resolution แล้วก็เป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวด้วยว่า เฟรมนี้คิดและจัดองค์ประกอบได้สมบูรณ์มาตั้งแต่ตอนกดชัตเตอร์ ซึ่งเจ้า A7 series ของ Sony เนี่ยเฟรมมันจะเป๊ะ เวลาเล็งก็เห็น depth of field (ช่วงความชัด) เลย และมันยังมีจอ LCD พลิกได้ ซึ่งผมสามารถยกกล้องขึ้นลงเพื่อให้ได้เฟรมที่ต้องการได้ง่าย แถมคนมักจะไม่รู้ตัวด้วยว่าเรากำลังถ่ายเขาอยู่ เพราะมี Silence mode คือกดชัตเตอร์ไปแล้วไม่มีเสียงแม้แต่เดซิเบลเดียว
เลนส์ที่ใช้ก็เป็น Leica M เมื่อก่อนใช้ 35mm สลับกับ 28mm แต่เพิ่งได้ตัว fixed 3 ระยะมา คือ Leica tri elmar 28-35-50 ซึ่งคุณภาพก็ออกมาดีนะ ตัวนี้เทียบกับเลนส์ fixed คุณภาพก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ มีใช้เลนส์ซูม 24-70 FE ของ ZEISS Sony บ้างเวลาไปทริปที่ออกแนวท่องเที่ยวหน่อย แล้วก็แฟลชแยกเวลาที่จนตรอกจริงๆ (หัวเราะ) คือบางครั้งแฟลชมันจะช่วยให้ภาพมันดูเหนือกว่าภาพในชีวิตประจำวันขึ้นมานิดนึง
ขั้นตอนการแต่งภาพ
ทุกภาพที่ผมถ่ายมาจะผ่านการแต่งสี-แสง ใน Lightroom นิดหน่อย แต่จะไม่ retouch อะไรเลย พวกยกภาพนั้นมาใส่ หรือลบส่วนใดส่วนนึงของภาพออกไป เป็นข้อห้ามต้นๆ ของการถ่ายภาพแนวนี้ ส่วนเรื่องสีผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องไปซีเรียสว่าห้ามทำสีเลย เพราะอย่างยุคฟิล์ม เวลาเราถ่ายภาพเสร็จแล้วเอาไปล้าง แต่ละร้าน แต่ละคน น้ำยาแต่ละตัวก็ล้างออกมาไม่เหมือนกัน ก็เหมือนกับ Lightroom ในปัจจุบัน เพียงแต่เปลี่ยนจากให้ lab ล้าง มาเป็นคุณจัดการด้วยตัวเอง แต่ข้อสำคัญคือต้องรู้ว่าความพอดีอยู่ที่ตรงไหน
ภาพที่เพิ่งไปถ่ายมาแล้วชอบมากที่สุดคือภาพไหน เพราะอะไร
ภาพนี้ชื่อ “Sharing” (คนแบ่งแตงโมกันกิน) ได้มาตอนไปร่วมงานของ Observe ซึ่งเป็นกลุ่มช่างภาพ นานาชาติเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาจัดนิทรรศการและมีการประกวดภาพถ่ายที่เยอรมนี ซึ่งภาพถ่ายของผมติด finalists ด้วย จริงๆ ที่ไปก็แค่อยากไปเจอเพื่อนใน flickr ที่พูดคุยกันตลอด แต่ยังไม่เคยเจอตัวจริงเสียที
พอจบนิทรรศการ เขาก็พากันขับรถไปเที่ยวต่างเมืองเพื่อจะไปเที่ยวเทศกาลหนึ่ง ชื่อว่า Peace Festival ในเมือง Münster ซึ่งคนเขามาขายของ ปาร์ตี้ เต้นรำ และปิคนิคกันในสนามหญ้า ประมาณสนามฟุตบอลนึง พอรถจอดเท่านั้นละ พวกช่างภาพที่มาร่วมงานของ Observe ด้วยกันประมาณ 30 คนก็วิ่งลงไปถ่ายภาพในงานหมดเลย (หัวเราะ) ลองนึกภาพนะครับ ช่างภาพสตรีทตัวจี๊ดๆ ทั้งนั้นจากทั่วโลก เดินสวนไปมาอยู่ในพื้นที่ประมาณสนามฟุตบอล แต่ละคนถ่ายไป-หามุมไป ซึ่งถ้าใครเคยไปออกทริปถ่ายสตรีทเนี่ยจะเข้าใจ เพราะคนที่ถ่ายมาสักระยะนึงมันจะมองเห็นเฟรมมิ่ง จังหวะ คล้ายๆ กัน ส่วนมากจะแยกกันเดินเพื่อป้องกันการแย่งมุม แย่งซับเจ็คกัน แต่งานนี้แยกกันเดินไม่ได้เพราะพื้นที่มีจำกัด (หัวเราะ) ผมก็ถ่ายไปเรื่อยๆ เผอิญเห็นคนกลุ่มหนึ่งหิ้วแตงโมมาจะหั่นแจกจ่ายกันกิน เลยได้ภาพนี้มา ที่ชอบภาพนี้เพราะว่ามันมีความลงตัวทั้งภาพคอมโพสิชั่น แสง สี โดยเฉพาะจังหวะ ของแตงโมที่ค่อยๆ เรียงตัวกันขึ้นไปด้านบน แล้ววนมาด้วยเชพของมือ คล้ายๆ เป็นวงกลมน่ะครับ
สถานที่ที่อยากไปถ่ายภาพแต่ยังไม่เคยไปคือที่ไหน เพราะอะไร
อยากไปอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพราะว่ายุโรปเนี่ยจะแสงเฉียง อากาศดี แถมคนยังชอบออกมาใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน และอิสตันบูลมันน่าสนใจตรงคาแร็คเตอร์ของคนนะครับ และด้วยการที่ตุรกีมันเป็นประเทศที่อยู่ระหว่าง 2 ทวีปด้วยเลยคิดว่าน่าจะมีวัฒธรรมการที่ผสมผสานออกมาแล้วน่าสนใจดี
เตรียมตัวก่อนออกไปถ่ายภาพอย่างไร
ไม่ได้เตรียมอะไรเลย แค่สะพายกล้องกับกระเป๋า pouch ใบนึงที่ใส่แบตกับ SD card แล้วก็มือถือ แค่นั้นเองเพระไม่อยากพกอะไรพะรุงพะรัง ไม่มีการวางแผนด้วย ช่วงเริ่มต้นกิจกรรม 365 ผมเริ่มถ่ายแถวบ้านก่อน คือซอยนวลจันทร์ ผมถ่ายจนเขาแซวว่าเป็น “ซอยสตรีทโลก” (หัวเราะ) ตั้งต้นด้วยการขับรถไปจอดที่วัดเพราะมันจอดฟรี แล้วก็เดินออกไปหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้ไปเรื่อยๆ พอถ่ายจดหมดซอยแล้วก็เริ่มหันเหไปถ่ายแถวสนามหลวงเพราะรู้สึกว่า subject มันต่างกัน ผู้คนก็คนละแบบ นักท่องเที่ยวเยอะดี เดินวนไปจนถึงแถวเสาชิงช้า จริงๆ คือต่อให้วางแผน เราก็ไม่รู้ว่าวันนั้นๆจะได้ภาพอะไรฮะ บางวันออกไปแล้วออกไปอีกก็ยังไม่ได้ จนจอดรถแวะหาอะไรกิน ก็ดันได้ภาพมาตอนนั้นก็มี
สำหรับคุณ street photography คืออะไร
ทีแรกก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร คิดว่ามันต้องไม่จัดฉาก และถ่ายในที่สาธารณะ คือไม่จำเป็นต้องเป็นถนนนะ ทะเล ในสระว่ายน้ำก็ได้ ขอให้เป็นที่สาธารณะ จนได้ไปฟังคำ คำนึงของพี่หนิง (หนึ่งใน Admin Street Photo Thailand) ที่บอกว่า street photography คือ “ต้องไม่จัดฉาก ถ่ายในที่สาธารณะ และมีความคิดสร้างสรรค์” รู้สึกว่าเป็นคำอธิบาย street photography ที่ใช่เลย ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็น gag หรือมุกนะครับ อะไรก็ได้ แต่มันต้องผ่านกระบวนการคิด หรือการ framing ที่สร้างสรรค์
ผ่านมาหลายปี ได้อะไรจากการถ่ายภาพ street photography บ้าง
เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่งฮะ จริงๆ การถ่ายภาพทุกประเภทเนี่ย อาจจะไม่ได้ผ่อนคลายอะไร แต่ช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจกดชัตเตอร์ หรือเดินเพื่อหาอะไรถ่ายเนี่ยมันคือการได้อยู่กับตัวเอง ไม่ฟุ้งซ่าน จดจ่อ มีสมาธิมากๆ
แผนการในอนาคต
อยากถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ก็ดูจริงจังกว่าอาชีพหลักเสียอีก (หัวเราะ) ส่วนแผนการน่าจะเป็นนิทรรศการเดี่ยวน่ะครับ ซึ่งยังไม่เคยทำเลย เพราะส่วนมากจะเป็นนิทรรศการกลุ่ม หรือเป็นภาพที่ได้อยู่ในนิทรรศการเพราะเข้า finalists จากการประกวดมากกว่า ผมก็อยากทำนะ แต่ต้องรอให้ภาพมันพร้อมกว่านี้ก่อน แล้วก็อาจจะออกรวมเล่มเป็นหนังสือ Photo Book ใจจริงอยากจะออกสักปลายปีนี้นะ แต่ไม่รู้จะทันรึเปล่า คือเป็นพวกเออระเหย พอสมควร (หัวเราะ)
ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะทำเป็นอาชีพหลัก แต่มันยากมากเพราะช่างภาพแนวนี้ก็จะมีรายได้จากการทำ workshop หรือขายภาพได้ในราคาไม่สูงมากยกเว้นว่าจะตายแล้ว หรือดังมากจริงๆ แบบ Trent Parke แต่งานของเขาจะเป็น street แค่บางส่วน ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวกึ่งๆ สารคดีมากกว่า
ผมไม่ได้ตั้งเป้าอะไรไว้ไกลนะ แต่ถ้าเอาแบบเป้าหมายในฝันเลยก็คงอยากขายภาพได้ภาพละล้านมั้ง (หัวเราะ)
นอกจากบทสัมภาษณ์นี้ เรายังได้คุยกับคุณทวีพงษ์เกี่ยวกับความรู้ด้าน street photography ที่เขาได้ศึกษามา รวมถึงเรื่องอุปกรณ์ถ่ายภาพกันอย่างสนุกสนานจนลืมเวลา ก่อนที่จะล่ำลากัน เขายังแอบยกกล้องมาถ่ายผู้คนที่เดินผ่าน และขอตัวเดินทางไปถ่ายภาพในละแวกใกล้ๆ ต่ออีกหน่อย เราจึงไม่สงสัยเลยว่าทำไมชายคนนี้ถึงคว้ารางวัลมาได้มากมาย เพราะเขาคือ street photographer ตัวจริง และเชื่อว่ารายการรางวัลอันยาวเหยียดที่เขาได้รับจะต้องต่อแถวยาวไปอีกหลายบรรทัดในอนาคต
- เป็นหนึ่งใน สมาชิกหลักของ กลุ่ม Street Photo Thailand และ FullFrontalFlash (International collective focused on flash street photography)
- พกกล้องถ่ายรูปแทบทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ยกเว้นตอนไปดูหนัง
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ไม่มีวันไหน ที่เขาไม่ได้ถ่ายรูปแม้แต่วันเดียว
Follow him at
website: www.tavepong.com
Flickr: https://www.flickr.com/photos/tavepong/
Instagram: https://instagram.com/tavepong_street